เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายคนอาจเคยเห็นปรากฏการณ์ #SAVEปีโป้ม่วง บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยหลังจากนั้นไม่นานปีโป้ก็ได้ร่วมมือกับ M150 เปิดตัวปีโป้กลิ่น M150 ที่เป็นกระแสโด่งดังไปทั่ว นอกจากนี้ยังมีการ collab กันระหว่าง Lego และ Netflix“Stranger Things” สร้างตัวละคร Stranger Things ในแบบฉบับของ Lego จนกลายเป็นคอลเลคชั่นที่ได้รับความสนใจทวีคูณ โดยกลยุทธ์จากทั้งสองตัวอย่างนี้เรียกว่า “Collaboration Marketing” นั่นเอง แล้ว Collaboration Marketing คืออะไร มีธุรกิจไหนบ้างที่ใช้กลยุทธ์นี้ อย่ารอช้า อ่านต่อได้เลย!
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
Collaboration Marketing คืออะไร
Collaboration Marketing หรือที่หลายคนเรียกกันว่า Collab Marketing เป็นกลยุทธ์การตลาดที่ธุรกิจที่มีเป้าหมายเหมือนกันตกลงร่วมมือกันเพื่อทำให้เป้าหมายนั้นเป็นจริง โดยได้ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย (Win-Win Situation) ซึ่งปกติแล้วจะมีจุดเริ่มต้นจากการที่ธุรกิจมีความสนใจสร้างพาร์ทเนอร์กับธุรกิจนึง ซึ่งรูปแบบในการสร้างพาร์ทเนอร์มีหลายแบบด้วยกัน ได้แก่
- การแบ่งปันกลุ่มตลาดเป้าหมาย (Shared Target Market)
- ความเหมือนกันของลักษณะกลุ่มผู้ซื้อสินค้า (Buyer Personas)
- การผสมผสานอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Complimentary Brand Identity)
- มีเป้าหมายทางการตลาดที่เหมือนกัน (Similar Marketing Goals)
- เสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ (Brand Image)
Collaboration Marketing VS Co-branding
Collaboration Marketing และ Co-branding ต่างก็เป็นกลยุทธ์การตลาดที่อาศัยความร่วมมือของแบรนด์ต่างๆ ร่วมกันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะสับสนว่าทั้ง 2 กลยุทธ์นี้ต่างกันอย่างไร
Collaboration Marketing จะเป็นการร่วมมือกันของแบรนด์ต่าง ๆ ในการทำแคมเปญ โปรโมชัน หรือกิจกรรมร่วมกัน เพื่อร่วมกันสร้างผลประโยชน์ต่างๆ ร่วมกัน เช่น ขยายฐานลูกค้า เข้าถึงลูกค้าใหม่ ๆ และสร้างจุดสนใจให้กับแบรนด์ โดยเป็นความร่วมมือระยะสั้นๆ ที่แบรนด์ต่างๆ ยังคงดำเนินธุรกิจและรักษาเอกลักษณ์ของแบรนด์ของตนเองไว้
ในขณะที่ Co-branding เป็นการร่วมมือกันของแบรนด์ต่างๆ เพื่อสร้างแบรนด์ใหม่ร่วมกัน โดยแบรนด์ต่างๆ จะต้องร่วมกันพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ หรือร่วมกันใช้โลโก้หรือชื่อแบรนด์ร่วมกัน ความร่วมมือในลักษณะนี้มักจะเป็นความร่วมมือระยะยาว โดยแบรนด์ต่างๆ จะร่วมกันสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาและร่วมกันทำการตลาดให้กับแบรนด์ใหม่นั้น
ข้อดีของ Collaboration Marketing
ขยายฐานลูกค้าใหม่
การร่วมมือกันกับแบรนด์อื่นๆ จะช่วยให้แบรนด์ของเราสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้มากยิ่งขึ้นทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าของแต่ละแบรนด์นั่นเอง ส่วนกรณีที่แบรนด์พาร์ทเนอร์ของเราเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกัน อย่าง ทิวลี่xโอวัลติน ที่ต่างมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน จะช่วยให้ทั้ง 2 แบรนด์สามารถจับกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ต้องการลองอะไรใหม่ๆ ช่วยให้ทั้ง 2 แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้
Cr. Infoquest
เพิ่มโอกาสในการขาย
นอกจากกลยุทธ์การตลาดแบบ Collaboration จะช่วยในการขยายฐานลูกค้าแล้วยังส่งผลให้แบรนด์ทั้ง 2 สามารถเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเมื่อฐานลูกค้ามากขึ้นทำให้มีลูกค้าหันมาสนใจในตัวสินค้าและบริการของแบรนด์มากขึ้นโอกาสในการขายจึงเพิ่มขึ้นตามปัจจัยดังกล่าวนั่นเอง
แบรนด์อยู่ในกระแสและเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง
การร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ต่างๆ มักจะสร้างกระแสความสนใจให้กับผู้บริโภค เนื่องจากเป็นการจับคู่กันของแบรนด์ที่อาจไม่คาดคิดหรือไม่เคยเห็นมาก่อน ผู้บริโภคจึงมักจะสนใจที่จะติดตามและร่วมพูดคุยเกี่ยวกับแคมเปญดังกล่าว โดยกระแสเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) และการมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ (Brand Engagement) ในวงกว่างอีกด้วย
ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูทันสมัยขึ้น
Collaboration Marketing มักจะนำไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำใคร เช่น สินค้า บริการ หรือแคมเปญระหว่าง 2 แบรนด์ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้กับแบรนด์เพราะสื่อว่าแบรนด์ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งสินค้าดังกล่าวมักจะมีจำนวนจำกัดที่ผสมผสานจุดแข็งของแต่ละแบรนด์ทำให้แบรนด์ทั้ง 2 มีภาพลักษณ์เหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และสินค้าที่มีจำนวนจำกัดนี้มักจะขายดีและเป็นที่ถูกใจในหมู่นักสะสม เพราะหาได้ยากและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น นาฬิกาแบรนด์ omega x swatch ที่ผู้คนต่างก็พากันมาต่อแถวซื้อนาฬิการุ่นดังตั้งแต่วันก่อนหน้าทั้งซื้อใส่เองและซื้อเกร็งราคา
Cr. Beartai
ลดต้นทุน
โดยปกติแล้วในการที่แบรนด์จะสร้างแคมเปญ หรือออกสินค้าบริการใหม่ขึ้นมามักจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ในทางกลับกันถ้าแบรนด์ทั้ง 2 ร่วมมือกันก็จะช่วยลดต้นทุนได้หลายส่วน ทั้งค่าทำการตลาด ค่าการผลิต และอื่นๆ เนื่องจากความร่วมมือของทั้ง 2 แบรนด์ จะช่วยให้ต่างคนต่างแบ่งงบประมาณกันอย่างเหมาะสมนั่นเอง
4 ขั้นตอนการทำ Collaboration Marketing ให้ได้ผล
การมีเป้าหมายทางการตลาดที่ชัดเจน
ขั้นตอนแรกคือการกำหนดวัตถุประสงค์ของแคมเปญให้ชัดเจน โดยวัตถุประสงค์ของ Collaboration Marketing นั้นอาจแตกต่างกันไป เช่น การขยายฐานลูกค้า การเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ การสร้างการรับรู้หรือความสนใจให้กับแบรนด์ หรือการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูทันสมัยขึ้น
เลือกแบรนด์พาร์ทเนอร์ที่ใช่
การเลือกแบรนด์ที่ร่วมมือกันนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของแคมเปญ โดยควรเลือกแบรนด์ที่มีเป้าหมายในการตลาดเหมือนกันเพื่อให้แคมเปญสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ แบรนด์ต่าง ๆ ควรเลือกแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์และคุณค่าที่ตรงกัน เพื่อให้แคมเปญสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคได้
วางแผนแคมเปญอย่างรอบคอบ
หลังจากเลือกแบรนด์ที่ร่วมมือกันได้แล้ว ควรวางแผนแคมเปญอย่างรอบคอบ โดยแผนแคมเปญควรครอบคลุมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น กลุ่มเป้าหมาย วัตถุประสงค์ งบประมาณ ระยะเวลา และการสื่อสาร
- งบประมาณ : กำหนดงบประมาณสำหรับแคมเปญให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่
- ระยะเวลา : กำหนดระยะเวลาของแคมเปญให้เหมาะสมกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
- การสื่อสาร : แวางแผนการสื่อสารแคมเปญอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด
วัดผลความสำเร็จ
ขั้นตอนสุดท้ายคือการประเมินผลความสำเร็จของแคมเปญ โดยสามารถวัดผลความสำเร็จของแคมเปญได้จากปัจจัยต่างๆ เช่น ยอดขาย ยอดการเข้าชมเว็บไซต์ ยอดการมีส่วนร่วมบนโซเชียลมีเดีย และความคิดเห็นของผู้บริโภค
กรณีศึกษาแบรนด์ดังที่ใช้กลยุทธ์ Collaboration Marketing
BTS x McDonald’s
Cr. TheStandard
เคมเปญ BTS x McDonald’s เปิดตัวเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2021 กว่า 50 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วยชุดอาหารพิเศษ “The BTS Meal” ประกอบด้วยนักเก็ตไก่ 10 ชิ้น เฟรนช์ฟรายส์ และโค้ก ทั้งสองด้านยังร่วมมือกันเพื่อสร้างสินค้าคอลเล็กชันพิเศษ เช่น กล่องอาหาร แก้วน้ำ และตุ๊กตา BT21 โดยแคมเปญนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากแฟน ๆ ของ BTS ทั่วโลก ส่งผลให้ McDonald's มียอดขายเพิ่มขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกา ยอดขายของ McDonald's เพิ่มขึ้น 20% ในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดตัวแคมเปญ
Uber x Spotify
Cr. USAToday
Uber กับ Spotify ร่วมมือกันโดย Uber ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการสามารถเชื่อมต่อกับ Spotify ผ่านแอปพลิเคชั่นบนรถได้ โดยนเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่ Spotify มอบให้กับลูกค้าของ Uber นอกจากนี้ทั้ง 2 แบรนด์ก็ทำโปรโมชั่นที่ได้ประโยชน์กับลูกค้าทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้แคมเปญความร่วมมือเป็นที่พูดถึงและกระจายไปอย่างกว้างขวาง
Nike x Apple
Cr. Apple
Nike ร่วมมือกับ Apple ออก Apple Watch ที่มีสายรัดเป็นวัสดุ Sport Band และมีโลโก้ Nike เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรักสุขภาพที่สนใจชอบออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังอาจทำให้คนที่ใช้ Apple Watch ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วหันมาสนใจและเลือกผลิตภัณฑ์ของ Nike ในการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น โดยคนที่เป็นสาวก Nike ก็จะได้เปิดใจในการเลือก Apple Watch เข้ามาใช้ในการยกระดับประสบการณ์การออกกำลังกาย
สรุป
ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และการแข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นการรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ด้วยการออกสินค้าสไตล์เดิมๆ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป การใช้กลยุทธ์ Collaboration Marketing จึงนับเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถรักษากลุ่มลูกค้าเดิมไว้ในขณะที่ขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กัน
ตาคุณแล้ว
อ่านบทความจบแล้วคิดว่าหลายคนน่าจะได้ไอเดียในการสร้างแคมเปญการตลาดรูปแบบใหม่ๆ ไปปรับใช้กันมากขึ้น เพื่อนๆ คิดว่าการตลาดแบบ Collaboration ของแบรนด์ไหนที่เจ๋งๆ อย่าลืมมาแชร์กันใต้คอมเมนต์เลย