จากอดีตที่คนต้องรอดูละครหลังข่าว ปัจจุบันคนก็เปลี่ยนมาดูรายการที่พวกเขาสนใจ ตอนไหน เมื่อไหร่ก็ได้ผ่านช่องทางอ่าน YouTube หรือ Netflix
จากอดีตที่ต้องตื่นเช้ามาเปิดวิทยุเพื่อรอดีเจคนโปรดเปิดเพลงให้ฟัง ปัจจุบันคนสามารถเข้าไปฟังเพลงที่เขาสนใจ หรือจัดเพลย์ลิสต์เจ๋งๆ บน Spotify หรือ Joox
จากอดีตที่ต้องคอยอัปเดตเรื่องราวผ่านหนังสือพิมพ์ทุกเช้า ปัจจุบันคนสามารถเข้าไปอัปเดตข่าวสารผ่านบล็อก หรือผ่าน Social Media อย่าง Twitter / Facebook ได้วินาที ต่อวินาที
พลังของสื่อกำลังถูกหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายไป
หลายๆ คนคิดว่าสื่อแบบดั้งเดิมจะตาย ส่วนตัวผม ผมคิดว่ามันอาจจะถดถอย หรืออาจจะมีความยากมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่มันน่าจะยังไม่ตาย
สื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ ถ้าถูกใช้ร่วมกับเทรนด์แห่งโลกอนาคตอย่างสื่อออนไลน์ พลังจะเพิ่มอย่างมหาศาล
ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในสื่อแบบดั้งเดิม และกำลังคิดอยากที่จะเข้ามาลุยสื่อออนไลน์ บทความนี้เป็นบทความสำหรับคุณ 🙂
ป.ล. ถึงแม้ว่าผมจะเติบโตมาจากช่วงที่เห็นสื่อดั้งเดิมรุ่งเรือง แต่ผมก็ไม่เคยที่จะทำงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อดั้งเดิมอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นในบทความนี้ ผมจะพยายามแสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของสื่อดั้งเดิมให้น้อยที่สุดเพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ผมถนัด แต่ทุกอย่างที่ผมเขียน ผมจะพยายามเขียนจากในมุมมองที่ผมเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์บนโลกออนไลน์แล้วกันนะ ผิด/ถูก เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยยังไง มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์นะครับ
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
คำแนะนำสำหรับสื่อดั้งเดิมที่อยากเข้ามาลุยสื่อออนไลน์
1. ความรู้ในเชิงเทคนิคเป็นสิ่งที่สำคัญ
บนโลกดั้งเดิม ไม่ว่าคุณจะเป็นสายเขียน สายทำรูป หรือสายทำวีดีโอ สิ่งที่คุณทำทั้งหมดนั้นทำขึ้นมาให้ “คน” เสพ
แต่สำหรับการทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะนอกจากที่คุณต้องทำคอนเทนต์เจ๋งๆ ให้ “คน” เสพแล้ว คุณยังต้องทำคอนเทนต์ให้กับ “อัลกอริทึ่ม” อ่านด้วยเช่นกัน
ไม่สำคัญว่าคอนเทนต์คุณจะเจ๋ง จะดี จะโดนขนาดไหน ถ้าคุณไม่ได้ทำมันออกมาให้อัลกอริทึ่มอ่านได้ คอนเทนต์ของคุณนั้นก็จะไปได้ไม่ดี (หรือต่อให้ไปได้ดีก็แค่ช่วงสั้นๆ หรือไม่ก็ต้องทุ่มเงินปริมาณมากๆ เพื่อให้คนเห็น)
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง SEO, Keyword Research, Facebook Remarketing และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง คุณจะต้องศึกษาไว้
จำไว้ว่าทั้ง “คน” และ “อัลกอริทึ่ม” เป็นกลุ่มสำคัญ 2 กลุ่มที่คุณจะต้องทำคอนเทนต์ให้
2. ต่างแพลตฟอร์ม ต่างวิธีการ
คอนเทนต์บนโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ต่างกันฉันใด คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ก็ต่างกันฉันนั้น
นอกจากเรื่องรูปแบบที่ต่างกันแล้ว (วีดีโอ, เสียง, ภาพ หรือตัวหนังสือ) แพลตฟอร์มที่ต่างกันก็มีวิธีการใช้งานที่ต่างกันเช่นเดียวกัน
เว็บไซต์ อาจจะเหมาะสำหรับการทำคอนเทนต์ยาวๆ และคอนเทนต์ประเภท Evergreen
คอนเทนต์บน Facebook ในช่วงนี้ก็อาจจะเป็นการทำ Live หรือวีดีโอ
คอนเทนต์บน Twitter ก็อาจจะเน้น Tweet ข่าวสั้นๆ และใน 1 วันควรจะต้อง Tweet มากกว่า 1 ครั้ง
สิ่งที่คุณควรทำคือการเฝ้าดูพฤติกรรมของคนที่อยู่ในแต่ละแพลตฟอร์ม และทำความเข้าใจ เพราะคอนเทนต์ ต่อให้ดีแค่ไหน ถ้าอยู่ผิดที่ผิดทาง มันก็อาจจะไม่สามารถเปล่งพลังได้อย่างที่ควรจะเป็น
3. อย่าเป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน
“Mass is bad”
มองเผินๆ การที่คุณพยายามสร้างคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ทุกคนอาจจะเป็นเรื่องดี ตลาดยิ่งใหญ่ โอกาสยิ่งมาก
แต่มันเป็นแบบนั้นจริงๆ เหรอ?
ผมคิดว่าบนโลกออนไลน์มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะยิ่งคุณทำคอนเทนต์ใน Topic ที่กว้างมากเท่าไหร่ ตัวตนของคุณก็จะยิ่งไม่ชัดเท่านั้น
คำแนะนำของผมคือพยายามที่จะทำให้เรื่อง หรือหัวข้อที่คุณเขียน/รายงานแคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (Niche) เน้นโฟกัสไปเป็นเรื่องๆ ทำเรื่องนั้นให้มีคุณภาพสุดๆ จนใครก็ทำคอนเทนต์สู้คุณไม่ได้ แล้วคุณธุรกิจสื่อของคุณจะไปต่อได้บนโลกออนไลน์ครับ
ตัวอย่างเช่นเว็บไซต์ Techcrunch ที่โฟกัสในเรื่องของ Startup โดยเฉพาะ หรืออย่าง Search Engine Land ที่โฟกัสเรื่อง SEM เป็นหลัก
จำไว้ว่า “Niche is bliss” ครับ 🙂
4. การขายโฆษณาไม่ใช่ทางเลือกเดียวของสื่อออนไลน์
แน่นอนว่าวิธีการหารายได้ด้วยการโฆษณานั้นเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุด แต่บางครั้งมันอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสมอไป
ผมขออนุญาตแชร์วิธีการหารายได้ของสื่อออนไลน์ที่ผมคิดว่ามันเวิร์ค เกี่ยวข้อง และน่าสนใจมาให้ได้อ่านกันนะครับ
วิธีที่ 1 การทำ Banner / Ad Network
การโฆษณาแบบติด Banner หรือติด Ad Network (เช่น Google Adsense) นี้เป็นวิธีการโฆษณาแบบพื้นฐานที่สุดในการหารายได้สำหรับสื่อออนไลน์
สื่ออย่าง Forbes เองก็ใช้วิธีนี้ในการหารายได้เช่นกัน
วิธีที่ 2 การทำ Sponsored Post / Advertorial
วิธีการนี้คือการที่แบรนด์มาจ้างสื่อออนไลน์ในการโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือ Social Media ก็สามารถทำได้หมด อย่าง Content Shifu เอง เราก็มีวิธีการหารายได้ด้วยวิธีการทำ Sponsorship ด้วยเช่นเดียวกันครับ
วิธีที่ 3 การทำ Affiliate Marketing
การทำ Affiliate Marketing ถือเป็นหนึ่งในการทำ Performance Marketing ความหมายคือถ้าสื่อช่วยให้แบรนด์ขายของได้ สื่อถึงจะได้เงิน แต่ถ้าสื่อช่วยแบรนด์ขายของไม่ได้ (ต่อให้จะหา Traffic หรือ Eyeball ให้กับแบรนด์มากแค่ไหนก็ตาม) สื่อก็จะไม่ได้เงิน
ตัวอย่างของสื่อที่นิยมหาเงินด้วยวิธีนี้คือ Smart Passive Income (เว็บไซต์สอนให้คนหาเงินออนไลน์อย่างยั่งยืน) ของ Pat Flynn ครับ
ส่วนตัวผมเอง ผมไม่เก่งเรื่องนี้เลย แต่ผมรู้จักคนไทยที่เก่งในการทำ Affiliate Marketing ให้กับแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกอยู่ ไว้ถ้ามีโอกาส ผมจะเชิญเขามาเขียนให้ได้อ่านกันนะครับ 🙂
วิธีที่ 4 ขายบริการ
ไม่ว่าคุณจะเป็นสื่อสายไหน สิ่งที่คุณจะต้องมีในการทำสื่อออนไลน์คือ “ความสามารถในการสื่อสาร” ซึ่งความสามารถแบบนี้นั้นเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา นอกเหนือจากการที่คุณทำคอนเทนต์บนช่องทางของคุณเองแล้ว คุณอาจจะขายบริการความเชี่ยวชาญของคุณให้กับแบรนด์ที่กำลังสนใจสิ่งที่คุณมีก็ได้
ตัวอย่างเช่นเว็บไซต์ Copyblogger ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่สอนเขียนคอนเทนต์ ที่เปิด Digital Commerce ที่ขายบริการการทำ Digital Marketing ให้กับแบรนด์ที่สนใจ
วิธีที่ 5 การจัดอีเวนต์ หรืองานสัมนา
ถ้าสื่อของคุณวาง Position ของคุณดีๆ แล้ว คุณจะมีทั้งผู้ติดตามรับข่าวสารจากคุณ (Audience) และความเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Authority) ซึ่งการที่คุณมี 2 อย่างนี้จะสามารถทำให้คุณต่อยอดไปได้อีกหลายอย่าง การจัดงานอีเวนต์ หรืองานสัมนาก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ
ตัวอย่างเช่นเว็บไซต์ Social Media Examiner ซึ่งเป็นเว็บไซต์อัปเดตข่าว และให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ Social Media ในเชิงธุรกิจที่มีการจัด Social Media Marketing World ทุกๆ ปี
วิธีที่ 6 การเป็นสมาชิกรายเดือน/รายปี
ถ้าคุณทำสื่อแบบดั้งเดิมมาก่อน ผมคิดว่าคุณคงคุ้นเคยกับการขายนิตยสาร/สิ่งพิมพ์ในรูปแบบของสมาชิกรายเดือน หรือรายปีเป็นอย่างดี แต่ถ้าเป็นสื่อออนไลน์ คุณอาจจะมีคำถามว่ามันเป็นไปได้จริงๆ เหรอ?
ในประเทศไทย ผมยังไม่เคยเห็นสื่อในใช้วิธีนี้ในการหารายได้ แต่ในต่างประเทศมีอยู่หลายที่เลยครับ ตัวอย่างเช่นเว็บไซต์ธุรกิจอย่าง Business Insider ที่ขายสมาชิกรายปีในราคา $49-79 โดยสิ่งที่สมาชิกจะได้คือ Exclusive Content และเรื่องราวเชิงลึกอีกหลายอย่าง
5. อย่าเสียสละผลลัพธ์ในระยะยาวเพื่อผลประโยชน์ในระยะสั้น
การลอกบทความคนอื่นมา
การพยายามที่จะอยู่ในกระแสเพื่อเรียกความสนใจในระยะสั้นๆ
การพยายามที่จะพาดหัวให้ดูน่าคลิก (Click Baiting)
การเอาบทความจากต่างประเทศแล้วเอามาแปลตรงๆ ตัว
วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีที่ง่าย ใช้ได้ดี และเห็นผลเร็ว แต่ก็อาจจะเพียงในระยะสั้น เพราะสิ่งที่คุณจะได้มันจะเป็นเพียงแค่ Traffic ไม่ใช่ Branding ที่จะทำให้คุณไปต่อได้ในระยะยาว
วิธีการคือให้คุณลองจินตนาการว่าคุณยืนอยู่ในที่สาธารณะ และคนเป็นร้อยๆ พันๆ กำลังมุ่งความสนใจมายังคุณ และมีพิธีกรถามคุณว่า “คุณทำสื่ออะไร”
ถ้าคำตอบที่ออกจากปากคุณ….
1. ทำให้คุณรู้สึกภาคภูมิใจ
2. ไม่ทำให้คุณรู้สึกผิด หรืออาย
3. ทำให้คนรู้สึกชื่นชมมากกว่าเหยียดหยามคุณ
คุณกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องครับ
สรุป
และนี่ก็คือ 5 คำแนะนำสำหรับสื่อดั้งเดิมที่อยากจะเข้ามาลุยสื่อออนไลน์นะครับ
ผมเชื่อว่าคนที่มาจากสื่อดั้งเดิมแทบจะทุกคนมีความสามารถในการสื่อสาร และการสร้างคอนเทนต์อยู่แล้ว ถ้าเพิ่มความรู้ ความสามารถที่เกี่ยวกับสื่อออนไลน์ได้ ผมรับรองว่าไปได้ไกลครับ
ตาคุณแล้ว
คุณเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำของผม หรือคุณมีคำแนะนำอื่นที่อยากจะแนะนำให้คนที่อยากเข้ามาเริ่มลุยสื่อออนไลน์บ้างรึเปล่า? มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยครับ
ไม่เคยผิดหวังกับเนื้อหาสาระที่ contentshifu ทำออกมาเลยครับ ขอบคุณมากๆครับสำหรับความรู้ที่มีประโยชน์
ดีใจที่ชอบนะครับ 🙂
ขอบคุณครับ
ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำคอนเทนต์ออนไลน์
มันทำให้ผมได้แนวทางมาคิดตกผลึกได้
ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันครับ