ในยุคที่คนเราสามารถอัปเดตข่าวสารต่าง ๆ ได้ในโลกโซเชียล ทั้งใน Facebook ที่มีเพจจากสำนักข่าวต่าง ๆ และคนที่ถนัดในเรื่องนั้น ๆ ที่มาทำเพจ หรือจะเป็นใน Twitter ที่เราสามารถติดตามข่าวสารผ่านแฮชแท็กที่กำลังเป็นกระแส รวมทั้ง Line ที่มีเมนู Line Today ที่รวบรวมคอนเทนต์ และเนื้อหาข่าวสารจากผู้ผลิตคอนเทนต์จากที่ต่าง ๆ มาให้ ทั้งเว็บไซต์ และสำนักข่าว..

แต่ก่อนที่โซเชียลทั้งสามตัวนี้จะบูมขนาดนี้.. เราต่างต้องคลิกเข้าไปอ่านเนื้อหาต่าง ๆ ทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรอบวัน ข่าวคราวอัปเดตในแวดวงบันเทิง หรือเรื่องราวไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ จากเว็บ “พอร์ทัล” (ภาษาไทย : เว็บท่า) อย่าง Sanook Kapook MThai และ TrueLife (TrueID ในปัจจจุบัน) ซึ่งกว่าที่เว็บพอร์ทัลทั้งสี่ตัวนี้จะยืนหยัดมาถึงทุกวันนี้ได้ ล้วนผ่านเหตุการณ์มากมาย ที่ล้วนเกี่ยวข้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ โดยในบทความนี้ เราจะพาไปทำความรู้จักกับยุคต้นกำเนิดของวงการเว็บพอร์ทัลในไทย ตั้งแต่ประมาณ 20 ปีที่แล้ว จนถึงในยุคปัจจุบัน ที่เว็บพอร์ทัลทั้ง 4 นี้ มีจุดเด่นอะไรบ้าง..

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

ตัวละครต่างๆ ในวงการเว็บพอร์ทัลของไทย

ประวัติศาสตร์น่ารู้ ของพอร์ทัลแต่ละเจ้า

Sanook พอร์ทัลเว็บแรกของสยามประเทศ

Sanook ถือกำเนิดขึ้นในปี 2541 โดยคุณปรเมศวร์ มินศิริ จากจุดเริ่มต้นที่ทำสิ่งนี้เพราะว่าเป็นงานอดิเรก แต่หลังจากนั้นได้เพียงหนึ่งปี ในปี 2542 บริษัท MWEB บริษัทที่ก่อตั้งโดยบริษัทแม่อย่าง MIH จากประเทศแอฟริกาใต้ ก็ได้เข้ามาซื้อกิจการเว็บไซต์ Sanook ไป อีกทั้งยังได้เปิดเว็บพอร์ทัลขึ้นมาอีกหนึ่งเว็บในชื่อว่า mweb.co.th (ชื่อเหมือนบริษัทที่เข้ามาซื้อกิจการ Sanook ไป)

โดยความแตกต่างระหว่างสองเว็บ ก็คือ mweb.co.th จะมีเฉพาะแต่เนื้อหา แต่ Sanook จะมี Search Engine ด้วย ในขณะที่คุณปรเมศวร์ ก็ยังเป็นผู้บริหารของ Sanook อยู่เหมือนเดิม รวมทั้งดูแลในส่วนของบริษัท MWEB ด้วย ซึ่งหลังจากนั้น บริษัท MWEB ก็ได้เข้าซื้อเว็บไซต์อื่น ๆ ในไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็น Thaicentral.com Thaiicq.com Sabuy.com Simplemag.com และ orchidtravel.com

แต่ทว่า ในปี 2548 MIH และบริษัท MWEB ก็ได้ตัดสินใจถอนทัพธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งนอกจาก Sanook และเว็บไซต์อื่น ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ตัวบริษัท MWEB เอง ก็ได้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นในผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่าง KSC ที่ร่วมลงทุนกับ Jasmine (ผู้ให้บริการ 3BB ในปัจจุบัน) และ CAT Telecom นอกจากนี้ MIH เอง ก็ได้มาร่วมลงทุนในเคเบิลทีวีรายใหญ่ของไทย อย่าง UBC ร่วมกับ True อีกด้วย

การตัดสินใจถอยทัพในครั้งนี้ MIH และบริษัท MWEB ก็ได้พยายามที่จะขายทุกกิจการให้กับ True แต่ True กลับเลือกซื้อไปแค่ KSC กับ UBC เท่านั้น ไม่ได้เลือกซื้อ Sanook และเว็บไซต์อื่น ๆ ไปด้วย โดย True ในตอนนั้นได้ให้เหตุผลว่า “True มุ่งไปเป็นผู้ให้บริการเข้าถึงเครือข่ายมากกว่า True จะไม่ทำข้อมูลทั้งหมด” ทำให้ MIH ยังเหลือธุรกิจเว็บพอร์ทัลในไทยอยู่ ในขณะที่ธุรกิจอื่น ๆ MIH และบริษัท MWEB ก็ได้ขายให้กับ True เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน บริษัท MWEB ก็ได้ตัดสินใจปิดตัว mweb.co.th ลง เหลือเพียงแต่ Sanook ไว้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น หนึ่งในหลาย ๆ เหตุผล ที่ปิดตัวลง ก็เพราะ “ผู้ใช้ในไทยผูกพันและพอใจกับแบรนด์ Sanook มากกว่า mweb.co.th”

ก่อนที่ Sanook จะไปเป็นส่วนหนึ่งของ Tencent อย่างทุกวันนี้ ต้องขอย้อนไปเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 2543 Naspers (บริษัทไอทีจากประเทศแอฟริกาใต้เช่นเดียวกับ MIH) ได้เข้าไปลงทุนใน Tencent ในปริมาณ 46.5% ของหุ้นทั้งหมด (ปัจจุบันเหลือเพียง 31.1% แล้ว) และในปี 2545 MIH ได้ควบรวมกิจการกับ Naspers เข้าด้วยกัน มาจนถึงปี 2553 บริษัท MWEB ก็ตัดสินใจขายกิจการ Sanook อีกครั้ง โดยในครั้งนี้ ได้ขายให้กับ Tencent หนึ่งในสามยักษ์ใหญ่ไอทีจากจีนแผ่นดินใหญ่ ในมูลค่าเพียง 341 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งในตอนนั้น Sanook มียอดการขาดทุนสะสมรวมกว่า 1,325 ล้านบาท (ไตรมาสที่ 1 ปี 2553)

จากเหตุผลทั้งหมดนี้ ก็จะเห็นว่า Sanook และ Tencent ต่างก็มีบรรพบุรุษคนเดียวกัน ก็คือ Naspers การขายกิจการครั้งนี้ ก็เปรียบเสมือนว่า Naspers ยก Sanook ที่แต่เดิมเป็นลูกของบริษัท MWEB ก็มาให้เป็นลูกของ Tencent แทนนั่นเอง ซึ่งหลังจากนั้นอีก 6 ปี ในปี 2559 บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ดั่งเช่นในปัจจุบัน

Kapook เว็บพอร์ทัลที่มีคนตัดสายสะดือให้ คนเดียวกับ Sanook

หลังจากที่คุณปรเมศวร์ มินศิริ ได้ขาย Sanook ให้กับบริษัท MWEB ในปี 2542 ถัดมาหนึ่งปี ในปี 2543 คุณปรเมศวร์ก็ได้เปิดเว็บพอร์ทัลอีกครั้งหนึ่ง ในชื่อ Kapook จากการที่ซื้อเว็บไซต์นี้ต่อจากรุ่นน้องอีกทีหนึ่ง โดยที่ยังอยู่ในช่วงการทำงานที่ Sanook อยู่ จนกระทั่งในปี 2543 คุณปรมินทร์ก็ได้ลาออกจาก Sanook และออกมาทำ Kapook อย่างเต็มตัว

หากเรามาดูในแวดวงการทำธุรกิจในบ้านเรา คุณตันขายโออิชิให้ไทยเบฟ จากนั้นก็มาทำอิชิตันเอง หรืออย่างตระกูลแก้วบุตตา ที่ขายศรีสวัสดิ์ให้กับ AIG (ซึ่ง AIG ในประเทศไทย ถูกซื้อกิจการโดยธนาคารกรุงศรีอีกที) แล้วออกมาทำสินเชื่อในชื่อ “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” อีกครั้งหนึ่ง จนกรุงศรีต้องเปลี่ยนชื่อศรีสวัสดิ์ไปเป็นเงินติดล้อ ในวงการธุรกิจดอตคอม ก็มีเรื่องอย่างนี้เช่นกัน

MThai เว็บพอร์ทัลน้องใหม่ ท่ามกลางธุรกิจบันเทิงของอาณาจักร Mono

MThai ได้ก่อตั้งโดยคุณเจิน เจิน ร่วมกับคนทำนิตยสารกลุ่มหนึ่ง ที่มีความต้องการอยากที่จะผลิตนิตยสารออนไลน์ เพื่อคนไทยในต่างแดนได้อ่านกันทั่วทุกมุมโลก ซึ่งได้เปิดให้บริการในปี 2541 หลังจากนั้นผ่านมาร่วม 6 ปี ในปี 2547 Mono ก็ได้เข้าซื้อกิจการ เว็บไซต์ MThai ซึ่งเล็งเห็นจากการที่เว็บไซต์ MThai ได้ติดอันดับ 4 ของการจัดอันดับจาก TrueHits และมีผู้เข้าเยี่ยมชมร่วม 30,000 รายต่อวัน

Mono เป็นบริษัทผู้ให้บริการดิจิทัลต่าง ๆ และสื่อบันเทิงที่หลากหลายอีกด้วย ซึ่งนอกจากเว็บไซต์แล้ว ก็ยังช่องทีวีดิจิทัล นิตยสาร ค่ายเพลง ค่ายหนัง และอื่น ๆ อีกมากมาย ก่อตั้งโดยคุณพิชญ์ โพธารามิก ผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งใน Mono และ Jasmine

TrueID เว็บพอร์ทัลที่เปลี่ยนชื่อบ่อยที่สุด

True ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ชูจุดเด่นเรื่องการให้บริการที่ครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน มาโดยตลอด ซึ่งนอกจากมือถือ อินเทอร์เน็ต และทีวีแล้ว True ก็ยังได้มาร่วมลงแข่งในสนามของพอร์ทัลอีกด้วย โดยได้เปิดเว็บแรกขึ้นมาในชื่อว่า TrueWorld ในปี 2548 ซึ่ง TrueWorld เป็นเว็บพอร์ทัลที่ยังไม่พอร์ทัลจ๋าเท่ากับ Sanook Kapook MThai สักเท่าไหร่ โดยเน้นไปที่บริการ Streaming เสียมากกว่า ทั้งเพลงจากทั่วโลก เทปการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ แอนิเมชันฝีมือคนไทย และดูดวง

ในปีเดียวกันที่ TrueWorld ได้เปิดตัว MIH ก็ได้มาเสนอขาย Sanook KSC และ UBC ให้ แต่ True กลับไม่เลือกซื้อ Sanook มาพร้อม ๆ กับ KSC และ UBC ด้วย ซึ่งได้ให้เหตุผลว่ายังไม่อยากทำข้อมูลทั้งหมด แต่หลังจากการที่ให้เหตุผลนี้ได้ไม่นานนัก ในปี 2549 True ก็ได้เปิดตัว TrueLife ขึ้นมา ซึ่ง TrueLife เป็นคอมมูนิตี้บนโลกออนไลน์ ที่เป็นทั้งเว็บพอร์ทัล สังคมออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าไปสร้างบ้านของตัวเอง ในบริการ “miniHOME” และโปรแกรมแชตผ่านตัวละครอวาตาร์สามมิติ อย่าง “onTM TrueLife” โดยในขณะนั้น ยังให้บริการควบคู่ไปกับ TrueWorld ก่อนที่จะรวมเข้าด้วยกันในเวลาต่อมา

การเปิดตัว TrueLife เป็นการเปิดตัวพร้อมกับ TrueLife+ ชื่อบริการแพกเกจของ True ที่ให้ลูกค้านำบริการต่าง ๆ ของ True มาผูกรวมกันเพื่อราคาที่ถูกลง โดยในช่วงแรก ๆ TrueLife ยังให้บริการไปพร้อม ๆ กับ TrueWorld ซึ่งในภายหลัง ก็ได้นำ TrueWorld มาควบรวมกับ TrueLife อีกที

ต่อมา ในปี 2559 ศึกผู้ให้บริการมือถือช่างร้อนแรง ต่างฝ่ายต่างงัดกลยุทธ์การให้บริการคอนเทนต์ขึ้นมาสู้ จากการที่ AIS ได้ปล่อย AIS Play ออกมา True ก็ไม่ยอมแพ้ จึงได้เปิดตัว TrueID ขึ้นมา ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้า True รวมทั้งเป็นช่องทางในการรับชมความบันเทิงต่าง ๆ และฟุตบอลพรีเมียร์ลีคและลีคอื่น ๆ ผ่านออนไลน์ ซึ่ง TrueID ในขณะนั้น ยังเป็นเพียงแอปพลิเคชันสำหรับลูกค้า True เท่านั้น เพื่อที่จะมาชนกับ AIS Play ของ AIS

แต่การที่ TrueID เป็นแอปฯ เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว ก็ดูเหมือนว่าจะไม่พอ ในปี 2560 True จึงได้นำ TrueID มาควบรวมร่วมกับ TrueLife อีกครั้ง ทำให้ TrueID เป็นทั้งเว็บพอร์ทัล ความบันเทิงต่าง ๆ ที่ลูกค้า True หรือลูกค้าเครือข่ายไหน ๆ ก็สามารถเข้ามาดู มาอ่านได้ รวมทั้งหน้าสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้า True ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม

สรุปมหากาพย์ไทม์ไลน์.. ตลอด 20 ปี

แรกเริ่มของมหากาพย์

2541 จุดเริ่มต้นของธุรกิจดอตคอม

  • จากการแข่งขันที่สูงมาก เพื่อเป็นการลดต้นทุนของทั้งสองฝ่าย IBC และ UTV จึงควบรวมกัน จนกลายเป็น UBC และหลังจากนั้นไม่นาน Shin Corp ได้ถอนหุ้นออกไป จนกลายเป็น Telecom Asia ถือหุ้นอันดับ 1 และ MIH ถือหุ้นอันดับ 2
  • Sanook เว็บพอร์ทัลแรก ๆ ของวงการ “ธุรกิจดอตคอม” ในประเทศไทย ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยคุณปรเมศวร์ จากจุดเริ่มต้นที่ทำสิ่งนี้เพราะว่าเป็นงานอดิเรก
  • คุณเจิน เจิน ได้เปิดเว็บไซต์ MThai ร่วมกับคนทำนิตยสารกลุ่มหนึ่ง ในช่วงปลายปี 2541
  • ในขณะที่ประเทศจีน Tencent ได้ก่อตั้งขึ้น โดย คุณหม่า ฮว่าเจิน และ คุณจาง จื้อตง

2542 ทุนใหญ่รุกคืบธุรกิจดอตคอม

2543 การกลับมาของคุณปรเมศวร์

2545 Mono มาแล้ว

  • MIH ควบรวมกิจการกับ Naspers ซึ่งเป็นบริษัทจากแอฟริกาใต้เช่นกัน
  • คุณปรเมศวร์ลาออกจาก Sanook และบริษัท MWEB หลังจากที่ทำงานร่วมกับทีมงานต่างชาติมาร่วม 2 ปี 7 เดือน
  • คุณพิชญ์ โพธารามิก ก่อตั้ง Mono เพื่อรุกธุรกิจสื่อดิจิทัลและบันเทิง

2547 Mono เข้าสู่ธุรกิจดอตคอม

2548 จุดหักเหของ Sanook เพราะ True ไม่ซื้อไปด้วย

  • True เปิดตัวเว็บไซต์ TrueWorld ให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ที่หลากหลาย ในรูปแบบ Streaming ต่าง ๆ ทั้งเพลงจากทั่วโลก เทปการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ แอนิเมชันฝีมือคนไทย และดูดวง ซึ่ง ณ ขณะนั้น เว็บไซต์นี้ ยังไม่ออกไปในแนวทางเว็บพอร์ทัลเท่าไหร่
  • True เข้าซื้อ UBC และ KSC ต่อจาก MIH โดยเลือกที่จะไม่ซื้อ Sanook และ mweb.co.th มาด้วย ซึ่งให้เหตุผลไว้ว่า “True มุ่งไปเป็นผู้ให้บริการเข้าถึงเครือข่ายมากกว่า True จะไม่ทำข้อมูลทั้งหมด”
  • หลังจากที่ True ไม่ซื้อ ก็ได้ปิดตัว mweb.co.th เหลือเพียงแต่ Sanook หนึ่งในหลาย ๆ เหตุผล ที่ปิดตัวลง เพราะ “ยูสเซอร์ในไทยผูกพันและพอใจกับแบรนด์ Sanook มากกว่า M-WEB

2549 True เข้าสู่ธุรกิจดอตคอมเต็มตัว

  • True เปิดตัว TrueLife คอมมูนิตี้บนโลกออนไลน์ ที่เป็นทั้งเว็บพอร์ทัล สังคมออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าไปสร้างบ้านของตัวเอง ในบริการ “miniHOME” และโปรแกรมแชตผ่านตัวละครอวาตาร์สามมิติ อย่าง “onTM TrueLife” ซึ่งในขณะนั้น ยังให้บริการควบคู่ไปกับ TrueWorld ก่อนที่จะรวมเข้าด้วยกันในเวลาต่อมา ซึ่งการเปิดตัว TrueLife เป็นการเปิดตัวพร้อมกับ TrueLife+ ชื่อบริการแพกเกจของ True ที่ให้ลูกค้านำบริการต่าง ๆ ของ True มาผูกรวมกันเพื่อราคาที่ถูกลง

2550 – 2552 – 2553 – 2557 ช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน

2559 – 2560 True ปัดฝุ่น TrueLife เป็น TrueID

  • ในปี 2559 True เปิดตัว TrueID แอปพลิเคชันที่รวบรวมสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้า True รวมทั้งเป็นช่องทางในการรับชมความบันเทิงต่าง ๆ และฟุตบอลพรีเมียร์ลีคและลีคอื่น ๆ ผ่านออนไลน์ ซึ่ง TrueID ในขณะนั้น ยังเป็นเพียงแอปพลิเคชันสำหรับลูกค้า True เพื่อที่จะมาชนกับ AIS Play ของ AIS
  • และในปี 2560 TrueID เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยได้ผนวกเข้ารวมกับ TrueLife ทำให้ TrueID เป็นทั้งเว็บพอร์ทัล ความบันเทิงต่าง ๆ และสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้า True

สรุป

20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่ามหากาพย์นี้จะเดือดเบอร์ไหนก็ตาม นับจากนี้เป็นต้นไป ตัวผู้เขียนเองก็เชื่อว่า ความเดือดนี้ก็ยังจะไม่เสื่อมคลายไปไหน แต่ยังจะทวีคูณความเดือดขึ้นไปอีกด้วย เว็บพอร์ทัลเอง ก็เริ่มหาบริการอื่นมาให้บริการควบคู่กันไปด้วย อย่างบริการ Streaming ที่ให้ผู้ใช้ได้ทั้งดูหนัง ดูทีวี ดูบอล และฟังเพลง แต่ไหนจะต้องเจอกับคู่แข่งจากสื่อออนไลน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เว็บพอร์ทัลอีก ทั้งโซเชียลเพจต่าง ๆ หน้ารวมข่าวอย่าง Line Today หรือจะเป็นเว็บและแอปฯ Streaming ต่าง ๆ ที่มีทั้งดูหนัง ดูทีวี ดูบอล และฟังเพลง เหมือนที่เว็บพอร์ทัลเองกำลังทำอยู่ ทั้งจาก Streaming ชื่อดังจากต่างประเทศ และค่ายเครือข่ายมือถือที่ลงมาทำเอง อย่าง AIS Play ที่ตอนนี้ได้เปิดให้ลูกค้าเครือข่ายใด ๆ ก็ได้มาใช้งาน

Shifu แนะนำ

กว่าจะกลายมาเป็นเว็บพอร์ทัลที่ใครๆ ก็รู้จักแบบทุกวันนี้ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่ใช่น้อย เราได้เห็นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเดินทางอันยาวนานกว่า 20 ปีกันไปแล้ว บทความหน้าจะทวีความเข้มข้นขึ้นเพราะเราจะเจาะลึก 4 เว็บพอร์ทัลไทยในตำนาน ติดตามได้ในบทความต่อไป “เจาะลึก.. เว็บพอร์ทัลทั้งสี่ : เปรียบเทียบจุดแข็งแต่ละเจ้า

ตาคุณแล้ว

รักใคร เชียร์ใคร เว็บพอร์ทัลไหน ก็อย่าลืมมาเกาะขอบสนามการแข่งขันที่ดุเดือดของวงการเว็บพอร์ทัลนี้กันให้ดีนะครับ ในบทความต่อไป Content Shifu จะพาทุก ๆ คนไปเจาะลึกทั้งสี่เว็บพอร์ทัล ว่ามีหมวดหมู่ในเว็บไซต์ จุดเด่น จุดด้อย อะไรบ้าง อีกทั้งยังได้เล่าถึงสื่อบันเทิงและบริการอื่น ๆ ที่อยู่ในเครือของเว็บพอร์ทัล ที่ส่งเสริมให้เว็บพอร์ทัลนั้น ๆ น่าใช้มากขึ้นอีกด้วย คอยติดตามกันนะครับ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ