สำหรับโลกของธุรกิจยุคใหม่ที่ใครๆ ก็ช้อปปิ้งออนไลน์เป็นงานอดิเรก แน่นอนว่า “หน้าร้านออนไลน์” บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Twitter, Instagram หรือ TikTok เป็นช่องทางที่ลูกค้าจะเข้ามาเจอร้านค้าได้มากที่สุด 

ดังนั้น กลยุทธ์ “Content Pillar” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ แล้วอะไรคือเทคนิคสำคัญในการสร้าง Content Pillar? ประโยชน์ของ Content Pillar มีอะไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบให้คุณ! 

Content Pillar คืออะไร

Content Pillar คือ หัวข้อหลักหรือหมวดหมู่เนื้อหาที่แบรนด์ต้องการนำเสนอให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยทำหน้าที่เป็นแกนกลางของเนื้อหาทั้งหมดของแบรนด์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ชมสามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็วว่าแบรนด์นั้นเกี่ยวกับอะไร อีกทั้งยังสามารถค้นหาเนื้อหาที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย 

ประโยชน์ของ Content Pillar

เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด

Content Pillar สามารถช่วยให้แบรนด์สามารถนำเสนอเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้ ช่วยดึงดูดผู้ชมให้เข้ามามีส่วนร่วมกับเว็บไซต์หรือแบรนด์มากขึ้น 

เช่น เว็บไซต์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่มี การวางแผนใช้ Content Pillar เกี่ยวกับ “สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย” จะช่วยให้เว็บไซต์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สนใจการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้โดยตรง โดยกลุ่มเป้าหมายสามารถคลิกดูสถานที่ท่องเที่ยวในไทยได้สะดวกและง่าย ต่างจากเว็บไซต์ท่องเที่ยวที่ไม่มีการตั้ง Content Pillar ทำให้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างสเปะสปะ ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ

เพิ่มการมองเห็นและการเข้าชมเว็บไซต์

การใช้กลยุทธ์ Content Pillar ช่วยให้แบรนด์สามารถจัดระเบียบเนื้อหาได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ชมสามารถค้นหาเนื้อหาที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย และอยากอ่านเนื้อหามากยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยให้เว็บไซต์หรือแบรนด์สามารถปรากฏในผลการค้นหาของ Google ได้มากขึ้น

เช่น Content Pillar ของ Content Shifu จะเป็นหัวข้อที่อยากโฟกัสและให้ความรู้กับผู้ติดตามด้านการตลาด ไม่ว่าจะเป็น Digital Marketing 101, SEO 101, Content Marketing 101, Inbound Marketing 101, Social Media Marketing 101 และ Digital Advertising 101

ส่งเสริม SEO

การมี Content Pillar ที่มีความเฉพาะเจาะจง ครอบคลุมเนื้อหาได้หลากหลาย แต่ก็ยังมีความชัดเจนและเข้าใจง่าย สอดคล้องกับกับกลุ่มเป้าหมาย และมีการอัปเดตเนื้อหาอยู่เสมอให้ทันกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย อย่างการใช้คีย์เวิร์ดที่มี Search Volume ติดอันดับ ล้วนเป็นปัจจัยในการที่ Google ใช้จัดอันดับเว็บไซต์ เพราะฉะนั้นจึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้าน SEO (Search Engine Optimization) ได้อีกด้วย เช่น เว็บไซต์เกี่ยวกับสุขภาพที่มี Content Pillar เกี่ยวกับ “เคล็ดลับการดูแลสุขภาพ” จะช่วยให้เว็บไซต์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้าน SEO ได้ เนื่องจากเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเป็นหัวข้อที่มีการแข่งขันสูงในผลการค้นหาของ Google

สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า

Content Pillar ที่ดีอาจไม่ใช่การเน้นขายจุดเด่นของแบรนด์ แต่ควรนึกถึงประโยชน์ของกลุ่มเป้าหมายที่ได้จากการรับรู้ข้อมูลเป็นหลัก ถ้าเขาอ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ก็จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์และกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เขารู้สึกผูกพันกับแบรนด์ยิ่งขึ้น เช่น แบรนด์ Up&Under ที่มี Content Pillar เกี่ยวกับ “เทรนด์แฟชั่นล่าสุด” เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายที่ชอบติดตามเทรนด์แฟชั่น โดยแนะนำไอเดีย Mix and Match เสื้อผ้าจากแบรนด์เพื่อเป็นการ Tie-in สินค้าโดยที่ผู้ชมรู้สึกว่าตัวเองได้ประโยชน์มากกว่าการขายสินค้าตรงๆ 

Cr. Un&Under

ขั้นตอนการสร้าง Content Pillar

กำหนดเป้าหมายของธุรกิจหรือแบรนด์

ขั้นตอนแรกคือการกำหนดเป้าหมายของธุรกิจหรือแบรนด์ว่าต้องการบรรลุเป้าหมายอะไร เนื่องจากเป้าหมายแต่ละแบบมีการสร้าง Content Pillar ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถ้าต้องการเพิ่มการรับรู้ถึงแบรนด์อาจจะต้องเน้นคอนเทนต์ที่ทำให้ผู้ชมรู้จักแบรนด์มากยิ่งขึ้น ถ้าต้องการเพิ่มยอดขายอาจต้องเพิ่มคอนเทนต์เกี่ยวกับประโยชน์ของสินค้า และถ้าต้องการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอาจต้องมีคอนเทนต์ที่ได้ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมหรือเกมให้ร่วมสนุก เป็นต้น 

วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย

การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ให้ชัดเจนทั้ง เพศ อายุ พฤติกรรม หรือที่เรารู้จักกันว่าการทำ persona เป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้าง Content Pillar ที่ดี เพราะช่วยให้สามารถเข้าใจ pain point ของลูกค้า และสร้าง Content Pillar ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายได้ยิ่งขึ้น นอกจากนี้การที่รู้จักคุณค่าของแบรนด์ยังช่วยให้สามารถสื่อสารสิ่งที่แบรนด์ให้ความสำคัญออกมาใน Content Pillar ได้ดีขึ้น

กำหนดหัวข้อหลักของ Content Pillar

ในการกำหนดหัวข้อหลักของ Content Pillar สามารถทำได้ 2 แบบ ได้แก่

แบ่งตามวัตถุประสงค์ของแบรนด์

  • Engagement: เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ติดตาม เพิ่มจำนวน Like, Share และ Comment เช่น คอนเทนต์ให้ความรู้ คอนเทนต์คำคมให้แรงบันดาลใจ กิจกรรมร่วมสนุก 
  • Brand Awareness: เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ นำเสนอภาพลักษณ์และคุณค่าของแบรนด์ ทำให้คนรู้จักแบรนด์ และจำเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้ เช่น คอนเทนต์แนะนำความเป็นมาของแบรนด์
  • Selling: เพื่อเพิ่มยอดขายสินค้า เช่น คอนเทนต์โปรโมชันสินค้า
  • Reviews: เพื่อแนะนำการใช้งานสินค้าจากผู้ที่เคยใช้งานจริงหรือ User-generated Content เพื่อกระตุ้นการพูดถึงแบรนด์ในวงกว้าง

แบ่งตามเนื้อหาคอนเทนต์

  • Lifestyle: คอนเทนต์ทั่วไปในชีวิตประจำวันที่อาจเกี่ยวกับเรื่องการทานอาหาร การท่องเที่ยว แฟชั่น สุขภาพ เช่น แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวลับในไทย
  • Education: คอนเทนต์ให้ความรู้ แบ่งปันทริปน่ารู้ที่สามารถทำตามได้ง่าย เช่น วิธีการทำ SEO ฉบับมือใหม่
  • Realtime: คอนเทนต์ตามกระแส  วลีฮิต เพลงฮิต หรือมีมที่กำลังเป็นเทรนด์ เช่น วลี “ปังมากแม่” กระแสบาร์บี้ 
  • Seasoning Content: คอนเทนต์ที่ตรงกับเทศกาล วันหยุด หรือวันสำคัญ

เผยแพร่เนื้อหาในช่องทางที่ใช่

เมื่อกำหนดหัวข้อหลักของ Content Pillar เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเผยแพร่เนื้อหาผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของรูปแบบคอนเทนต์ เช่น หากเนื้อหาเป็นวิดิโอ ควรลงใน TikTok และ Instagram Reel เนื้อหาที่เป็นรูปภาพควรลง Instagram Post และ Facebook ส่วนเนื้อหาที่เป็นข้อความควรลงใน Facebook เป็นต้น

ไอเดียคอนเทนต์ที่ควรมีในเพจของคุณฉบับ 2023

ไลฟ์สดพูดคุยกับลูกค้า

ไลฟ์สดเป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากช่วยให้ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมกับเจ้าของเพจได้โดยตรง เป็นการทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า อีกทั้งยังสามารถรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากลูกค้าได้อีกด้วย  เช่น ไลฟ์พูดคุยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ตอบคำถามจากลูกค้า จัดกิจกรรมหรือเกม ขายสินค้าและบริการ

How to

เป็นคอนเทนต์ที่ให้ความรู้หรือคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการทำสิ่งต่างๆ ได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากช่วยให้ผู้ชมสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง และมีประโยชน์กับผู้ชม เช่น สอนทำอาหาร สอนแต่งหน้า สอนใช้สินค้าหรือบริการ

กิจกรรมหรือแคมเปญ

Cr. BEMING.BKK 

กิจกรรมหรือแคมเปญเป็นคอนเทนต์ที่กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมจากกลุ่มเป้าหมาย และยังช่วยให้เจ้าของเพจสามารถดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายได้อย่างดี เช่น แจกของรางวัล เล่นเกม ประกวด และร่วมกิจกรรมต่างๆ

เบื้องหลังการทำงานหรือแบรนด์

คอนเทนต์เบื้องหลังการทำงานหรือแบรนด์เป็นคอนเทนต์ที่ช่วยให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จักแบรนด์ของคุณมากขึ้นและช่วยให้รู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้น อีกทั้งยังได้เห็นความพิถีพิถันของแบรนด์ให้การผลิตสินค้าหรือบริการขึ้นมาว่าให้ความสำคัญกับรายละเอียดต่างๆ และคำนึงถึงลูกค้ามากน้อยแค่ไหน เช่น พาชมโรงงานหรือสำนักงาน สัมภาษณ์พนักงาน เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ

สรุป

กลยุทธ์ Content Pillar เป็นหัวใจสำคัญของการทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของตนไม่ว่าจะเป็นการสร้างการรับรู้แบรนด์ เพิ่มยอดขาย สร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถสื่อสารเนื้อหาที่แบรนด์ให้ความสำคัญได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าอีกด้วย

ตาคุณแล้ว

การสร้าง Content Pillar อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับมือใหม่ แต่ไม่ยากเกินความสามารถของคุณแน่นอน อ่านจบแล้ว ลองนำกลยุทธ์นี้ไปปรับใช้กับแบรนด์แล้วได้ผลลัพธ์อย่างไรบ้าง อย่าลืมมาแชร์กันใต้คอมเมนต์ได้เลย