ในยุคนี้หลายคนคงได้ยินคำว่า “อินฟลูเอนเซอร์” ผ่านหูกันมาบ้างแล้ว เพราะการอ่านรีวิวจากผู้ใช้จริง รวมถึง “อินฟลูเอนเซอร์” ก่อนเลือกซื้อสินค้าได้กลายเป็นเรื่องที่นักช็อปตัวยงอย่างพวกเราทำกันเป็นประจำ อีกทั้งคนรุ่นใหม่หลายคนก็ใฝ่ฝันที่จะเป็นอินฟลูเอนเซอร์เพื่อหารายได้เสริมในขณะเรียนอยู่ หรือวัยทำงานบางคนก็มองว่าเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ทางรองอีกด้วย

จริงๆ แล้วอินฟลูเอนเซอร์คืออะไร มีหน้าที่อะไรบ้าง และต้องเรียนคณะ สาขาไหนถึงจะได้เหมาะกับการก้าวเข้าสู่วงการอินฟลู? มาร่วมหาคำตอบกันได้จากบทความนี้ พร้อมบอกเล่าเคล็ด(ไม่)ลับในการเป็นอินฟลูระดับตัวแม่ อย่ารอช้า ตามมาดูเลย!

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

อาชีพ Influencer คืออะไร

อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คือ ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็น การตัดสินใจซื้อ การตัดสินใจติดตาม การตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของทางแบรนด์ โดยอินฟลูเอ็นเซอร์จำเป็นต้องมีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของทางแบรนด์  และความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้า บริการ หรือกิจกรรมต่างๆ ของแบรนด์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

อาชีพ Influencer มีกี่ประเภท

อินฟลูเอนเซอร์สามารถแบ่งได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดตาม หรือลักษณะคอนเทนต์ที่ทำ

แบ่งตามจำนวนผู้ติดตาม

  • Mega-Influencers/ Celebrity / Mass Publisher (ผู้ติดตาม 1,000,000 คนขึ้นไป) อินฟลูเอนเซอร์ประเภทนี้มักจะเป็นคนดังที่มีชื่อเสียงทางออฟไลน์อย่าง ดารา นักร้อง นักกีฬา ซึ่งได้รับการติดตามมากกว่า 1 ล้านคนบนโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสร้างคอนเทนต์ได้อย่างมืออาชีพ มีไลฟ์สไตล์ที่ชัดเจนและโดดเด่นจึงเป็นผู้นำเทรด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียในวงกว้างทั้งผู้ติดตาม และผู้บริโภคทั่วไป  ไม่ว่าจะเป็นการทำชาเลนจ์ผ่านช่องทางออนไลน์ การเต้นประกอบเพลง หรือการแต่งตัว เหมาะกับ: แบรนด์รายใหญ่ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดในอินฟลูเอนเซอร์ประเภทต่างๆ นอกจากนี้ Mega Influencer มักจะมีผู้จัดการที่คอยดูแลเรื่องข้อตกลงในการร่วมงานกันเพื่อทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์อีกด้วย
  • Macro-Influencers/ Key Opinion Leaders (ผู้ติดตาม 100,000 – 1,000,000 คน) ผู้มีชื่อเสียงรองจาก Mega Influencer ส่วนใหญ่เป็นดารา เน็ตไอดอล ยูทูปเบอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักในบางช่องทางอย่าง YouTube Twitter Facebook Instagram มีความสามาถในการสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ต่อผู้ติดตามได้ โดย Macro Influencer สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า Mega Influencer เหมาะกับ: แบรนด์ที่มีงบประมาณสูงในการทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ หรือแบรนด์ขนาดกลางที่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
  • Micro-Influencers (ผู้ติดตาม 10,000 – 100,000 คน) ผู้มีชื่อเสียงที่มีความชอบส่วนตัว หรือมีความรู้เฉพาะด้านที่รู้ลึก รู้จริงทำให้มีผู้ติดตามที่เป็นสาวกในเรื่องนั้น และมีไลฟ์สไตล์คล้ายๆ กัน โดยมีความสามารถในการเข้าถึงผู้ติดตามได้ดีเนื่องจากมีความเป็นกันเอง และสามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ตอบโจทย์และดึงดูดผู้ติดตามที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันได้อย่างมืออาชีพเหมาะกับ: แบรนด์กลางๆ ที่พอจะมีฐานลูกค้าอยู่แล้วโดยต้องการสร้างความมีส่วนร่วม (Engagement) และ มีงบประมาณระดับปานกลาง
  • Nano-Influencers  (ผู้ติดตาม 1,000 – 10,000 คน) คนทั่วไปที่มีชื่อเสียงและเป็นที่จดจำในกลุ่มคนรู้จัก หรือเพื่อนๆ เฉพาะด้าน อย่าง ดาวโรงเรียน เดือนมหาลัย หรือประธานนักเรียน โดยสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ติดตามได้อย่างใกล้ชิด ให้ความรู้สึกเหมือนบอกต่อเพื่อนๆ มากกว่าการโฆษณาชวนเชื่อ นอกจากนี้ยังได้รับความน่าเชื่อถือจากกลุ่มผู้ติดตามเนื่องจากมีความเรียลมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ทำให้สามารถสร้างยอดความมีส่วนร่วม(Engagement) ได้เป็นอย่างดี เหมาะกับ: แบรนด์ที่มีงบประมาณจำกัด แต่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นได้อย่างเฉพาะเจาะจง อยากทำการตลาดแนวบอกต่อมากกว่าโฆษณาตรงๆ 

แบ่งตามประเภทของคอนเทนต์

  • Blogger คือผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ในด้านบทความ โดยใช้ความสามารถด้านการเขียนแนะนำ บอกต่อสินค้า บริการ สถานที่ท่องเที่ยว หรือการพัฒนาตนเอง การเงิน สุขภาพ การเลี้ยงลูก ดนตรี หรือแม้แต่กิจกรรมต่างๆ ที่แบรนด์จัดขึ้นมักจะมีผู้ติดตามเป็นผู้อ่านที่สนใจในด้านนั้นๆ โดยเฉพาะ ที่เห็นบ่อยในปัจจุบันจะเป็นด้านการรีวิวเครื่องสำอางค์ หรือสินค้าต่างๆ ในชีวิตประจำวันซึ่งมีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค
  • Youtuber คือผู้ที่สร้างสรรค์คอนเทนต์ในรูปแบบของวิดิโอลงบนแพลตฟอร์มของ YouTube ซึ่งมีเนื้อหาในแต่ละช่องแตกต่างกันออกไป เช่น Little Monster ช่องเกี่ยวกับครอบครัว, Ice Padie ช่องเกี่ยวกับความงาม, Mojiko ช่องเกี่ยวกับอาหาร โดยมักจะเป็นคอนเทนต์ทำการตลาดให้แบรนด์ในลักษณะ Tie-in ขายสินค้า บริการต่างๆ อย่างแนบเนียนเพื่อไม่ให้ขัดต่ออารมณ์ของคนดู
  • Podcaster คือผู้สร้างคอนเทนต์ที่เป็นคลิปเสียงซึ่งเป็นลักษณะเนื้อหาออนไลน์ที่ค่อนข้างใหม่ และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เช่น Mission to the Moon และ the Standard ที่เป็นลักษณะของการพัฒนาตนเอง แรงบันดาลใจในการลองทำอะไรบางอย่าง 
  • Instagrammer นอกจากคอนเทนต์ประเภทบทความ วิดิโอ และคลิปเสียงแล้ว คอนเทนต์ประเภทรูปภาพ หรือ Social Post ได้รับความนิยมอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่องทาง Instagram โดย Instagrammer จะโพสต์รูปภาพเพื่อสนับสนุนแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสื้อผ้า และใช้สินค้าของแบรนด์นั้นๆ 

Influencer มีหน้าที่อะไรบ้าง

ทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์

Influencer จำเป็นต้องทำความรู้จักแบรนด์เป็นอย่างดีก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายของแบรนด์คือใคร อายุเท่าไหร่ หลังจากนั้นจึงทำการศึกษาหาเพิ่มเติมว่าคอนเทนต์ที่กลุ่มเป้าหมายกำลังให้ความสนใจเป็นคอนเทนต์ประเภทไหน และกลุ่มเป้าหมายอยู่ในแพลตฟอร์มไหนมากที่สุดเพื่อวางแผนการสร้างคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ทำความรู้จัก value ของแบรนด์

หลังจากรู้แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายของแบรนด์คือใคร Influencer ต้องทำความเข้าใจคุณค่าที่แท้จริงของแบรนด์ผ่านการหาข้อมูล คิด วิเคราะห์เพื่อที่จะส่งต่อคุณค่าของแบรนด์ออกมาผ่านการสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้และเข้าใจคุณค่าที่แท้จริงของแบรนด์ รวมถึงสามารถเน้นคุณค่าดังกล่าวที่มีความเป็นเอกลักษณ์เพื่อแข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ ได้

เชื่อมต่อกลุ่มเป้าหมายและแบรนด์

อย่างที่ทราบว่า Influencer ต่างก็มีฐานผู้ติดตามของตนที่สนใจในไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอยู่แล้วทำให้สามารถสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) การมีส่วนร่วม (Engagement) ไปจนถึงการเพิ่มยอดขายผ่านทางโซเชียลมีเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาเพียงแค่ชั่วข้ามคืน (ในกรณีที่เป็น Mega Influencer) โดยการโพสต์ลงโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram หรือทำคลิปลง YouTube

สร้างคอนเทนต์เพื่อโปรโมตสินค้าหรือบริการของแบรนด์

อีกหน้าที่สำคัญของ Influencer คงนี้ไม่พ้นการสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและแบรนด์ ซึ่งคอนเทนต์ก็แบ่งออกเป็นหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นประเภท บทความ บล็อค วิดิโอ podcast หรือรูปภาพ โดยขึ้นอยู่กับความถนัดของตัว Influencer เอง และอยู่ที่ว่ากลุ่มเป้าหมายชื่นชอบคอนเทนต์ประเภทไหน โดยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Content Marketing ก่อนที่จะสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์อย่างมีประสิทธิภาพ

เป็นตัวแทนของแบรนด์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี

แน่นอนว่าในการเลือกคนสักคนมาเป็น Influencer ทางแบรนด์ย่อมเลือกคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่เข้ากับคุณค่าของแบรนด์ รวมถึงอยากได้คนที่มีภาพลักษณ์ไปทางเดียวกันกับแบรนด์ เพราะฉะนั้น Influencer ต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีและสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ได้ อย่างแบรนด์ที่ส่งเสริมเรื่องความ Inclusive เรื่องเพศ และสีผิว เช่น NYX ที่ออกแคมเปญ “Proud Allies for All” ซึ่งเลือกพรีเซ็นเตอร์ตามรูปลักษณ์ของ PRO Artistry ที่แยกแต่ละสีของธง Progress Pride Flag เพื่อส่งเสริม lgbtq+ 

cr.NYX

ทักษะที่ควรมีเพื่อก้าวสู่การเป็น Influencer มืออาชีพ

ทักษะด้าน Hard Skills

  • Research Skill การค้นคว้า ศึกษาข้อมูลที่เชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายและแบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ละเอียดและครบถ้วน โดยมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการค้นคว้าข้อมูล
  • Social Media Skill มีความสามารถและคุ้นเคยในการใช้โซเชียลมีเดีย รู้ว่าคอนเทนต์ประเภทไหนควรลงในช่องทางไหน แต่ละแพลตฟอร์มมีจุดเด่นและจุดด้อยอย่างไร
  • Program and Tool Skill สามารถใช้โปรแกรมหรือเครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานได้ เช่น Youtuber จำเป็นต้องใช้โปรแกรมตัดต่อวิดิโออย่าง Adobe Premier Pro ได้ Blogger สามารถทำรูปภาพประกอบบทความได้โดยใช้ Adobe Photoshop เป็นต้น
  • Search Engine Optimization Skill คอนเทนต์บางรูปแบบอย่างบทความ และวิดิโอจำเป็นต้องอาศัยหลักการของ SEO เพื่อให้คอนเทนต์ติดอันดับต้นๆ ในการค้นหาเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากขึ้น

ทักษะด้าน Soft Skills

  • Communication Skill ทักษะการสื่อสารโดยใช้คำพูด หรือข้อความที่เข้าใจง่าย ตรงจุด และไม่เวิ่นเว้อ สามารถจับใจความได้ง่าย ช่วยให้คอนเทนต์ที่จะส่งออกไปมีความดึงดูด และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
  • Creative Skill แน่นอนว่าการสร้างสรรค์นั้นจำเป็นต่อ Influencer มากไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อรูปภาพ วิดิโอ หรือการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจล้วนต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำให้คอนเทนต์มีประสิทธิภาพมากพอ
  • Time-Management Skill สามารถวางแผน จัดการ และสร้างคอนเทนต์ได้ตรงตามแผนและเวลาที่วางไว้ได้เป็นอย่างดี รู้จักการเรียงลำดับขั้นตอนการทำงานอย่างมืออาชีพ
  • Lifelong Learning Skill เป็นน้ำไม่เต็มแก้วที่หมั่นค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น รวมถึงติดตามเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มเป้าหมาย

อยากเป็น Influencer ต้องจบอะไร เรียนสาขาไหน

อย่างที่ทราบกันว่า Influencer นั้นมีหลากหลายประเภท ซึ่งลักษณะคอนเทนต์ที่ทำขึ้นอยู่กับความถนัดและความสนใจของแต่ละคนจึงไม่จำเป็นต้องจบจากคณะ หรือสาขาที่ตรงสายก็สามารถเป็น Influencer ในด้านต่างๆ ที่สนใจได้ อย่างด้านอาหาร ความงาม แฟชั่น ครอบครัว กีฬา แต่ในแง่ของการสร้างคอนเทนต์ได้อย่างสร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งความสามารถในการเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายนั้นสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้โดยตรงจากการเรียนในคณะและสาขา ดังนี้

  • คณะนิเทศศาสตร์
    • สาขาวารสารศาสตร์
    • สาขาการภาพยนต์และภาพนิ่ง
    • สาขาโฆษณา
  • คณะอักษรศาสตร์
  • คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์
    • สาขากราฟฟิค ดีไซน์
    • สาขาดิจิตอลอาร์ทและมัลติมิเดีย
  • คณะบริหาร
    • สาขาการตลาดดิจิทัล

อยากเป็น Influencer ต้องทำอย่างไร

รู้จักความเชี่ยวชาญ และความสนใจของตนเอง

ในการเป็น Influencer ขั้นตอนแรกจะต้องทำความรู้จักตนเองว่าตนเองมีความสนใจและเชี่ยวชาญในด้านไหน เนื่องจาก Influencer นั้นมีหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นเชี่ยวชาญด้านการเขียน การตัดต่อวิดิโอ การพูด การแสดง ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำได้ดีในทุกอย่าง แต่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านที่ตนเองสนใจอย่างดีเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของตนเองไม่ให้ซ้ำกับคนอื่นๆ

หมั่นอัปเดตความรู้และเทรนด์ใหม่ๆ 

ความรู้เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัวและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพราะฉะนั้นการไม่หยุดที่จะเรียนรู้ หมั่นอัปสกิลและรีสกิลจะช่วยให้เรามีความรู้และทักษะที่ยั่งยืน สามารถปรับใช้ในการสร้างคอนเทนต์ตามเทรนด์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเรียนรู้สามารถทำได้หลายทางไม่ว่าจะเป็นการศึกษาจากบทเรียนในมหาวิทยาลัย หรือการทดลองทำงานจริงอย่างการฝึกงาน หรือทำ workshop ต่างก็ช่วยให้สามารถนำประสบการณ์มาปรับใช้ในการเป็น Influencer มืออาชีพได้

ลงคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ

แน่นอนว่าความสม่ำเสมอเป็นอีกหัวใจสำคัญของการทำคอนเทนต์ที่เหล่า Influencer มืออาชีพต่างก็ให้ความสำคัญ เพราะจะทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถจำเราได้ผ่านการเห็นบ่อยๆ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันก็จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายติดตามเรามากขึ้น ต่างจากการที่ลงคอนเทนต์นานๆ ครั้งมักจะทำให้ยอดผู้ติดตาม และการมีส่วนร่วมลดลงอีกด้วย

พัฒนาผลงานจากฟีดแบค

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการทำงาน เราไม่สามารถทำให้ทุกคนชอบเราได้ แต่การได้รับฟีดแบคที่มีประโยชน์จากกลุ่มผู้ติดตามจะช่วยให้สามารถพัฒนาและปรับปรุงให้ผลงานออกมาดีขึ้น อีกทั้งยังทำให้รู้ความคิดเห็นแบบเรียลๆ จากผู้ติดตามว่าเขาชอบ หรือไม่ชอบผลงานแบบไหน คิดว่าควรแก้ไข หรือเพิ่มเติมส่วนไหนเพื่อทำให้ผลงานออกมาตอบโจทย์พวกเขา และรักษาพวกเขาให้ติดตามเราไปได้อีกนานๆ 

สรุป

อาชีพ Influencer นั้นไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่การสร้างคอนเทนต์สู่สื่อออนไลน์เท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของอาชีพนี้คือการทำความรู้จักคุณค่า รวมถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เพื่อเชื่อมต่อทั้งคู่เข้าด้วยกันซึ่งเปรียบเสมือน แม่สื่อที่ช่วยพาลูกค้าไปหาแบรนด์นั่นเอง โดยในการผันตัวเป็น Influencer มืออาชีพ จำเป็นต้องรีสกิลและอัปสกิลทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ต่อเนื่องอยู่เสมอ อีกทั้งยังต้องลงมือทำจริงเพื่อพัฒนาผลงานจากฟีดแบคที่ได้รับอีกด้วย

ตาคุณแล้ว

สำหรับผู้ที่สนใจเป็น Influencer การหาประสบการณ์จริงเพื่อพัฒนาตนเองนั้นสำคัญมาก โดยอาจเลือกรับงานเป็นชิ้นๆ แบบ Freelance ไปก่อน เพื่อสำรวจว่าตนเองชื่นชอบในอาชีพนี้จริงหรือไม่ และสนใจทำคอนเทนต์ปนะเภทไหนเป็นพิเศษ โดยสามารถหางานได้ผ่านทางกลุ่มต่างๆ บน Facebook หรือเว็บไซต์ต่างๆ หากเพื่อนๆ มีเว็บไซต์หรือกลุ่มงานมาแนะนำ สามารถร่วมกันแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนกันได้เลยค่ะ