เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาฟังเพลงใน Spotify รู้สึกว่าเพลงที่ได้ฟังมักจะมีแต่เพลงแนวที่ชอบ?

เวลาหาหนังดูใน Netfliix ทีไร แพลตฟอร์มก็มักจะแนะนำหนังเรื่องที่คล้ายกับเรื่องที่เราชอบ?

ถ้าเคย คุณอาจจะโดน “Personalized Marketing” ตกเข้าให้แล้ว!

แล้ว Personalized Marketing คืออะไร ทำไมสามารถมัดใจลูกค้าได้ พร้อมแล้ว อ่านเลย!

Personalized Marketing คืออะไร?

Personalized Marketing คือ กลยุทธ์การตลาดที่นำข้อมูลของลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย เช่น พฤติกรรม ความต้องการ เพศ อายุ อาชีพ ความสนใจ จนปัญหาที่เขาต้องเจอ มาวิเคราะห์ว่าสินค้าและบริการอะไรของธุรกิจที่จะสามารถตอบโจทย์ให้กับลูกค้าแต่ละคนได้เพื่อสร้างประสบการณ์การตลาดที่ปรับให้เข้ากับความต้องการและความสนใจของลูกค้าแต่ละคนโดยตรง แทนที่จะใช้กลยุทธ์ทั่วไปที่เป็นกลางที่เน้นไปที่กลุ่มทั้งหมดของลูกค้าที่ไม่ได้เจาะจงลูกค้าแต่ละคน 

ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดในชีวิตประจำวัน เช่น การที่เราเล่น TikTok แล้วเจอคลิปวิดีโอในหน้า For You Page เป็นคลิปสไตล์เดียวกับที่เราสนใจ สิ่งนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างของ Personalize Marketing หรือการที่เราค้นหา ‘เดรสใส่ออกงาน’ แล้วเจอโฆษณาของชุดเดรสเด้งขึ้นมาในขณะที่เรากำลังเล่น Instagram อยู่

Personalized Marketing มีกี่ประเภท?

Segmentation

การทำ Personalize แบบ Segmentation คือการที่ธุรกิจหรือนักการตลาดพยายามแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็นหลายๆ กลุ่ม โดยอาจจะแบ่งจากเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น อายุ พฤติกรรม ความต้องการ ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งละเอียดมากเท่าไหร่ ธุรกิจก็จะสามารถโฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจกับแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น แต่ที่ควรระวังคือการแบ่งกลุ่มที่มากเกินไปอาจจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถควบคุมจุดคุ้มทุนได้เนื่องจากมีการใช้ต้นทุนไปกับการทำการตลาดหลากหลายกลุ่มมากเกินไป

1-to-1 Personalization

การทำ 1-to-1 Personalization ต่างจากการแบ่งกลุ่มแบบ Segmentation เนื่องจากเป็นการโฟกัสไปที่กลุ่มเป้าหมายแต่ละคนจริงๆ โดยมีการรวบรวมข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายแต่ละคนเอาไว้เพื่อนำไปวิเคราะห์และนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจแต่ละคน โดยการจะทำวิธีนี้ได้จะต้องมี MarTech เข้ามาช่วยทั้งด้านการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผลลัพธ์ และการนำ MarTech มาใช้ยังมีข้อดีอีกอย่างคือคู่แข่งของเราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเรามีการใช้กลยุทธ์อะไรเบื้องหลังการนำเสนอสินค้าและบริการต่างๆ นี้เพราะลูกค้าแต่ละคนจะได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปตามความชอบของตนเอง 

โดยนิยมใช้วิธีนี้ผ่านทางช่องทางออนไลน์และแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น

Personalized Email Marketing

แม้แพลตฟอร์มนี้จะถูกใช้งานมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังเป็นหนึ่งในช่องทางทำการตลาดที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม เนื่องจากสามารถใช้ฟีเจอร์ในอีเมลเพื่อจัดกลุ่มผู้รับได้ อีกทั้งยังสามารถใส่ชื่อผู้รับแบบที่เฉพาะเจาะจง สามารถอวยพรในวันสำคัญของลูกค้าอย่างวันเกิด และเสนอโปรโมชั่นพิเศษให้กับแต่ละบุคคลได้ผ่านการใช้ Email

Personalized Content Marketing

นอกจากในช่องทาง Emailแล้ว การทำ Personalize อีกรูปแบบที่นิยมก็คือ Personalized Content Marketing หรือการนำข้อมูลของลูกค้าแต่ละคน เช่น ความชอบ พฤติกรรม ปัญหามาใช้สร้างคอนเทนต์ตามที่แต่ละคนสนใจอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับแต่ละคนผ่านการส่งคอนเทนต์ไปหาลูกค้าทางโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์ต่างๆ

Product Recommendations

สิ่งที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ ก็คือการแนะนำสินค้าและบริการตามความสนใจของแต่ละคนในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งจำเป็นต้องนำข้อมูลอย่าง ประวัติการเข้าชมสินค้า ประวัติการซื้อ ประวัติการนำสินค้าใส่ไว้ในตะกร้าของลูกค้าแต่ละคนมาเป็นข้อมูลเพื่อนำเสนอสินค้าที่มีลักษณะคล้ายๆ กันเพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าให้กับธุรกิจ

ประโยชน์ของการทำ Personalized Marketing 

เข้าถึงลูกค้าได้ถูกกลุ่ม

การใช้ข้อมูลของลูกค้าจะช่วยให้สามารถแบ่งกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถทำการตลาดได้อย่างตรงจุด ไม่ต้องทำคอนเทนต์เพื่อเข้าถึงลูกค้าโดยใช้คำหรือรูปแบบคอนเทนต์ที่กว้างๆ เพื่อหาลูกค้ากลุ่มใหญ่ แต่สามารถสื่อสารกับลูกค้าที่เหมาะกับสินค้าและบริการได้โดยตรง

ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงกับกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น 

เสนอสินค้าและบริการได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย

การทำการตลาดแบบ Personalized จะช่วยให้ธุรกิจปรับแผนการตลาดให้เหมาะกับความต้องการ ความสนใจ และพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า ด้วยเหตุนี้ธุรกิจจึงสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เนื่องจากรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายแบบไหนที่ต้องการสินค้าและบริการที่ธุรกิจมีขายอยู่

สร้าง Customer Loyalty

การให้ประสบการณ์ที่ทันสมัยและเต็มไปด้วยสิ่งที่ตรงกับความสนใจส่วนตัวของลูกค้าช่วยทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจและเชื่อมั่นต่อธุรกิจมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้ายังเพิ่มโอกาสในการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายทั่วไปเป็นลูกค้าและจากลูกค้ากลายเป็นลูกค้าประจำที่ซื่อสัตย์กับธุรกิจของเราได้อีกด้วย

ลดต้นทุนการตลาด

การทำ Personalized Marketing ช่วยให้ธุรกิจสามารถนำเสนอสินค้าและบริการไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น ทำให้ธุรกิจไม่ต้องเสียทรัพยากรและค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นในการทำการตลาด ซึ่งช่วยให้สามารถลดต้นทุนการตลาดที่ต้องสูญเสียไปจากการทำการตลาดที่ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ขั้นตอนการทำ Personalized Marketing

1. รวบรวมข้อมูลลูกค้า

การทำ Personalized Marketing ต้องเริ่มต้นด้วยการรวบรวมข้อมูลลูกค้า ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก ข้อมูลนี้สามารถมาจากหลายแหล่ง เช่น ประวัติการซื้อ ข้อมูลการใช้บริการ การใช้งานอินเทอร์เน็ต และข้อมูลส่วนตัวอย่าง อายุ เพศ อาชีพ ความสนใจ ปัญหาที่พบ 

2. วิเคราะห์และจัดกลุ่มข้อมูล

หลังจากที่ได้ข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายแล้ว ขั้นตอนถัดมาคือทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดกลุ่มกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน สามารถใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ การใช้ Machine Learning หรือเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลอื่นๆ เพื่อเปรียบเทียบและจัดกลุ่มข้อมูลลูกค้าให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด อาจทำ Persona ของลูกค้าแต่ละกลุ่มขึ้นมาเพื่อให้สามารถเห็นภาพที่ตรงกันในทีมและง่ายต่อการสื่อสารกับแต่ละกลุ่มมากขึ้น

3. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

เมื่อเราได้ทั้งข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายและได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายออกมาแล้ว ให้กำหนดวัตถุประสงค์ของการทำ Personalized Marketing และตั้งเป้าหมายที่ต้องการให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่ม การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้สามารถสร้างแผนการตลาดที่ตอบโจทย์เป้าหมาย ช่วยให้ไปถึงเป้าหมายได้อย่างแน่วแน่มากยิ่งขึ้น

4. นำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตรงใจลูกค้า

เมื่อเรารู้แล้วว่าลูกค้าแต่ละกลุ่มมีความสนใจ พฤติกรรม และปัญหาอย่างไร ต่อมาคือการวางแผนการตลาดเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม หนึ่งในวิธีที่ธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญคือการสร้างคอนเทนต์ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ทั้งการโฆษณา การจัดโปรโมชั่นให้กับกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่ม ใช้ข้อมูลลูกค้าเพื่อสร้างและส่งเสริมสินค้าหรือบริการที่ตรงกับความต้องการและความสนใจของลูกค้า

5. ติดตามและวัดผล

ขั้นตอนที่สำคัญอีกอย่างคือการติดตามผลการทำ Personalized Marketing ผ่านการวัดประสิทธิภาพของแต่ละแคมเปญ และใช้ข้อมูลนี้เพื่อปรับปรุงแผนการตลาดหรือแคมเปญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การทำ Personalized Marketing เป็นกระบวนการที่ต้องปรับปรุงตลอดเวลา ดังนั้นจะต้องคอยติดตามและวัดผลข้อมูลอยู่เสมอเพื่อนำมาพัฒนาแผนการตลาดให้เหมาะสม

เครื่องมือในการทำ Personalized Marketing

Google Analytics

Google Analytics เป็นเครื่องมือช่วยเก็บข้อมูลการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายในเว็บไซต์ เช่น จำนวนผู้เข้าชม พฤติกรรมการเข้าชม คีย์เวิร์ดที่ใช้ในการค้นหา และช่วงเวลาที่เข้าชมเว็บไซต์ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ว่ากลุ่มเป้าหมายกำลังมองหาสินค้าและบริการแบบไหนและนำเสนอคอนเทนต์ตามความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย

Google Optimize

Google Optimize เป็นเครื่องมือทดสอบและปรับแต่งหน้าเว็บไซต์เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้งานโดยสามารถใช้ Google Optimize เพื่อทำ A/B testing ทดสอบการแสดงบนหน้าเว็บไซต์หลายรูปแบบว่าแบบไหนที่ผู้ใช้งานชอบมากที่สุด อาจใช้เพื่อทดสอบตำแหน่งของรูปภาพ วิดีโอ หรือข้อความโฆษณาเพื่อปรับคอนเทนต์ในเว็บไซต์ให้ตรงกับความชอบของกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่ม

Hubspot

HubSpot เป็นแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์ที่ให้บริการการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) โดยมีระบบสำหรับจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าแต่ละกลุ่มในด้านต่างๆ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ช่องทางและวิธีในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระยะยาวเพื่อเปลี่ยนจากกลุ่มเป้าหมายให้กลายเป็นลูกค้า และเปลี่ยนลูกค้าธรรมดาทั่วไปเป็นลูกค้าประจำที่มีความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์ อาจใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าผ่านอีเมล แชท หรือการคุยทางโทรศัพท์เพื่อหาว่าลูกค้าต้องการอะไรและสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อไป

Mailchimp

Mailchimp เป็นเครื่องมือส่งอีเมลและจัดการการตลาดทางอีเมลแบบอัตโนมัติ นอกจากการส่งอีเมล Mailchimp ยังมีฟีเจอร์ที่ช่วยในการทำ Personalized Marketing เช่น การสร้างแคมเปญที่ปรับให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย การใช้ชื่อและข้อมูลลูกค้าในอีเมล และการติดตามผลการส่งอีเมลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำการตลาดผ่านทางอีเมลได้อีกด้วย

ตัวอย่างธุรกิจที่ทำ Personalized Marketing

Spotify

Cr. viwizard

  • Playlist ที่เหมาะกับผู้ใช้งาน: Spotify นำเสนอ Playlist ที่ถูกสร้างขึ้นอัตโนมัติตามความชื่นชอบและประวัติการฟังของผู้ใช้โดยใช้ข้อมูลการฟังเพลงของผู้ใช้งานมาวิเคราะห์แนวเพลงตามที่ผู้ใช้งานแต่ละคนชอบจึงสามารถแนะนำ Playlist ที่มีเพลงตามความสนใจและความชื่นชอบของแต่ละบุคคล
  • แนะนำเพลงและศิลปิน: Spotify มีฟีเจอร์ Discover Weekly ที่จัดเพลงแนะนำใหม่ในแต่ละสัปดาห์ การแนะนำนี้ทำให้ผู้ใช้งานได้พบกับเพลงและศิลปินที่ร้องเพลงแนวที่พวกเขาชื่นชอบโดยเขาเองก็อาจจะไม่รู้จักเพลงและศิลปินเหล่านี้มาก่อน
  • ประสบการณ์การฟังที่ทันสมัย: Spotify ใช้ข้อมูลและ Machine Learning เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การฟังของผู้ใช้ เช่นการแนะนำเพลงตามสถานการณ์ ปรับเปลี่ยนลิสต์เพลงตามวันและเวลา และการทำเพลงที่เหมาะสมตามอารมณ์

Netflix

Cr. d3.harvard.edu

  • แนะนำภาพยนตร์และรายการทีวี: Netflix ใช้ข้อมูลการดูภาพยนตร์ รายการทีวี และความชื่นชอบเพื่อแนะนำภาพยนตร์และรายการทีวีที่อาจจะเป็นที่ชื่นชอบของคนดู มีการใช้ Algorithm ที่ปรับตามประสบการณ์การดูทำให้ Netflix สามารถเดาความชื่นชอบของคนดูได้อย่างแม่นยำ
  • ทำตลาดอย่างละเอียด: Netflix สร้างเนื้อหาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลายรายบุคคล โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ เช่น ภาพยนตร์และรายการทีวีที่เป็นที่นิยมในแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละช่วงวัยอายุเพื่อนำเสนอคอนเทนต์ที่คนดูสนใจ
  • ปรับคอนเทนต์ให้เหมาะสม: Netflix มีการนำเสนอคอนเทนต์ในหลายภาษาและปรับคอนเทนต์ตามความเหมาะสมและความเข้าใจในแต่ละวัฒนธรรมทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่ตรงกับภาษาและวัฒนธรรมของตน

Shopee

Personalized Marketing เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่บริษัทใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเพื่อมัดใจลูกค้าแต่ละกลุ่มที่เฉพาะเจาะจงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Cr. Sphere Agency

  • แนะนำสินค้าและโปรโมชั่น: Shopee ใช้ข้อมูลการซื้อสินค้า การค้นหา และการทำธุรกรรมเพื่อแนะนำสินค้าและโปรโมชั่นที่เป็นไปตามความสนใจของลูกค้า มี “สินค้าแนะนำประจำวัน” ทำหน้าที่แนะนำสินค้าที่อาจสนใจตามประวัติการซื้อสินค้าของลูกค้า
  • แคมเปญโปรโมตที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย: Shopee มักจัดแคมเปญโปรโมตที่แตกต่างกันตามฤดูกาล วันหยุด หรือเหตุการณ์พิเศษ การทำ Personalized Marketing ทำให้แคมเปญนั้นๆ มีความเหมาะสมตามวัตถุประสงค์และความสนใจของกลุ่มลูกค้า
  • ปรับคอนเทนต์และโฆษณา: Shopee ใช้ Personalized Marketing ในการปรับคอนเทนต์และโฆษณาตามประวัติการช้อปปิ้ง ความสนใจ และพฤติกรรมของลูกค้ารวมถึงการนำเสนอโฆษณาสินค้าที่มีโอกาสจะได้รับความสนใจสูงจากกลุ่มเป้าหมาย

สรุป

การทำ Personalized Marketing นับเป็นอีกกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจที่ต้องการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับกลุ่มเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นกลายเป็นลูกค้าประจำที่ภักดีกับสอนค้าและบริการของคุณ

ตาคุณแล้ว

อ่านจบแล้วลองมาแชร์กันว่าเพื่อนๆ ชอบตัวอย่างการทำ Personalized Marketing ของธุรกิจไหน เพราะอะไร