จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียมากยิ่งขึ้นทำให้แบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญกับการตลาดออนไลน์ รวมถึงการใช้ Influencer หรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมายในการทำการตลาด
ผลสำรวจจาก HubSpot พบว่า 50% ของผู้บริโภคในกลุ่ม Millennials ให้ความเชื่อมั่นในกลุ่ม Influencer สำหรับการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการจากแบรนด์ และลดลงเหลือ 38% หากเป็นการแนะนำจากกลุ่มดาราหรือเซเลป อีกทั้ง 56% ของนักการตลาดที่ใช้กลยุทธ์ Influencer Marketing มีการทำงานร่วมกับ Micro-Influencer ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง มาร่วมถอดรหัสว่าอะไรคือเหตุผลที่แบรนด์เลือกใช้ Micro-Influencer ในการทำการตลาดออนไลน์? พร้อมเผย 7 ขั้นตอนในการใช้ Micro-Influencer เพื่อทำการตลาดออนไลน์แบบปังๆ ให้กับแบรนด์และธุรกิจของคุณได้ในบทความนี้
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
Micro-Influencer คือใคร
Micro-Influencer จัดอยู่ในกลุ่ม Influencer ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 คน โดยมักจะเป็นผู้มีชื่อเสียงที่มีความชอบส่วนตัว หรือมีความรู้เฉพาะด้านที่รู้ลึก ทำให้มีผู้ติดตามที่เป็นสาวกในเรื่องนั้น และมีไลฟ์สไตล์คล้ายๆ กัน โดยมีความสามารถในการเข้าถึงผู้ติดตามได้ดีเนื่องจากมีความเป็นกันเอง และสามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ตอบโจทย์และดึงดูดผู้ติดตามที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันได้อย่างมืออาชีพ
ซึ่งปกติแล้ว Influencer จะแบ่งเป็น 4 ประเภทด้วยกัน (แบ่งประเภทจากยอดผู้ติดตาม) ได้แก่
- Mega-Influencers: ผู้ติดตาม 1,000,000 คนขึ้นไป
- Macro-Influencers: ผู้ติดตาม 100,000 – 1,000,000 คน
- Micro-Influencers: ผู้ติดตาม 10,000 – 100,000 คน
- Nano-Influencers: ผู้ติดตาม 1,000 – 10,000 คน
5 เหตุผลที่ควรทำการตลาดออนไลน์โดยใช้ Micro-Influencer
สื่อสารกับกลุ่ม Niche Market ได้ตรงจุด
โดยปกติแล้วกลุ่มผู้ติดตามของ Micro-Influencer มักจะเป็น Niche Market หรือตลาดแบบเฉพาะกลุ่มที่มีความสนใจ ความชอบส่วนตัวที่เฉพาะเจาะจงไปในทางเดียวกับ Micro-Influencer จึงทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจในแบรนด์ของคุณได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณจะเข้าถึงผู้คนที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์มากที่สุด ซึ่งเป็นข้อดีในการทำงานร่วมกับ Micro-Influencer เช่น แบรนด์สามารถทำงานร่วมกับ Micro-Influencer ที่ชื่นชอบในการกินคลีน ไม่ทานเนื้อสัตว์ รักสุขภาพ เพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช (Plant Based Food) หรือ Green Smootie ของคุณได้
ได้ Engagement จากกลุ่มเป้าหมาย
จากผลสำรวจของ hubspot พบว่า Micro Influencer สร้าง Engagement ได้สูงกว่า Macro Influencer ถึง 60% เนื่องจาก Micro-Influencer มีกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากกว่า Macro-Influencer จึงมีอัตราการมีส่วนร่วมที่สูงกว่า ซึ่งหมายความว่าโพสต์ของ Micro-Influencer สามารถเข้าถึงผู้ติดตามได้ในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น และผู้คนจำนวนมากที่เห็นคอนเทนต์มักจะมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์นั้น เช่น การถูกใจ การแสดงความคิดเห็น และการแชร์ นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า Micro-Influencer มีอัตราการมีส่วนร่วม 6% บน Instagram ในขณะที่ Macro Influencer มีอัตราการมีส่วนร่วมประมาณ 1.97%
ราคาจับต้องได้
แน่นอนว่าการทำงานร่วมกับ Macro-Influencer ที่เข้าถึงผู้คนถึงระดับแสนไปจนถึงล้านคนมีงบประมาณที่ค่อนข้างสูง ต่างจาก Micro-Influencer ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้น้อยกว่า แต่มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า ซึ่งใช้งบประมาณที่ถูกกว่า โดย hubspot เผยว่า 44% ของนักการตลาด กล่าวตรงกันว่าประโยชน์ที่ดีที่สุดของการทำงานร่วมกับ Micro Influencer คือช่วยในเรื่องของการประหยัดงบประมาณ
จากข้อมูลของ Influencer Marketing Hub พบว่าราคาของการทำงานร่วมกับ Micro-Influencer มีดังนี้
- Instagram: 100 – 500 USD ต่อโพสต์ หรือประมาณ 3,500 – 17,000 บาท
- YouTube: 200 – 1,000 USD ต่อวิดีโอ 1 ชิ้น หรือประมาณ 7,000 – 34,000 บาท
- TikTok: 25 – 125 USD ต่อโพสต์ หรือประมาณ 850 – 4,200 บาท
- Twitter: 20 – 100 USD ต่อโพสต์ หรือประมาณ 700 – 3,500 บาท
- Facebook: 250 – 1,250 USD ต่อโพสต์ หรือประมาณ 8,500 – 42,000 บาท
มีความน่าเชื่อถือ
ปกติแล้วผู้คนมักจะไว้วางใจคำแนะนำจากเพื่อนและครอบครัวมากที่สุด โดย 92% ของผู้บริโภคกล่าวว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะไว้วางใจเพื่อนร่วมงานมากกว่าการโฆษณา ซึ่งในกลุ่ม Niche Market เอง คำแนะนำแบบปากต่อปากนั้นเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ อีกทั้งการยืนยันจาก Micro-Influencer จะช่วยเพิ่มน้ำหนักและการันตีว่าสินค้าและบริการนั้นมีคุณภาพจริงๆ เนื่องจาก ความคิดเห็นของ Micro-Influencer มีอิทธิพลต่อกลุ่มเฉพาะของพวกเขา เช่น กลุ่มแฟนคลับ อาชีพ งานอดิเรก หรืออื่นๆ ทำให้การใช้ Micro-Influencer ในการทำการตลาดออนไลน์มีความน่าเชื่อถือ
เข้าถึงได้ง่าย
โดยปกติ Macro-Influencer และ Mega-Influencer ซึ่งเป็นผู้อิทธิพลที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ในระดับแสนจนถึงล้านมักจะร่วมงานกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ต่างจาก Micro-Influencer ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และค่อนข้างเปิดกว้างมากในการทำงานร่วมกับแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ มากกว่า ในกรณีที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดี Micro-Influencer มีแนวโน้มที่จะทำหน้าที่เป็น Brand Ambassador และยกระดับแบรนด์เมื่อเขามีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเปิดรับความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องจากแบรนด์ต่างๆ ที่ได้ร่วมงาน
7 ขั้นตอนการทำการตลาดออนไลน์ด้วย Micro Influencer
ตั้งเป้าหมายและจุดประสงค์ให้ชัดเจน
ขั้นตอนแรกของการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Micro-Influencer คือการมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากจะบรรลุวัตถุประสงค์อะไร เช่น เพิ่มการรับรู้ถึงแบรนด์ เพิ่มจำนวนการกล่าวถึงแบรนด์ทั้งหมด
เพิ่มผู้ติดตามโซเชียลมีเดีย ปรับปรุงการเข้าชมเว็บไซต์ หรือสร้างยอดขายใหม่ เนื่องจากการสร้างคอนเทนต์ของ Micro-Influencer จะต้องสอดคล้องไปกับเป้าหมายของแบรนด์เพื่อไปให้ถึงจุดมุ่งหมายนั้น เพราะฉะนั้นแบรนด์จำเป็นต้องตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับแบรนด์ในตอนนี้ และอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่น แบรนด์อาจจะเริ่มทำการตลาดโดยใช้ Micro-Influencer ครั้งแรกเพื่อเพิ่มยอดผู้ติดตาม จากนั้นเมื่อมีผู้ติดตามในจำนวนที่ตั้งไว้แล้วค่อยเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการเพิ่มยอดขาย
ระบุ KPIs เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้
เมื่อรู้เป้าหมายแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเริ่มเจาะลึกและเจาะจงเกี่ยวกับ KPI หรือ ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพหลักสำหรับแต่ละเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น
เป้าหมาย: การรับรู้ถึงแบรนด์และการมีส่วนร่วม
KPIs: เพิ่มการเข้าถึงบนโซเชียลมีเดีย ปรับปรุงอัตราการมีส่วนร่วมทางโซเชียลมีเดีย และเพิ่มจำนวนติดตามทางโซเชียลมีเดีย
เป้าหมาย: เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่
KPIs: กระตุ้นการรับรู้/การค้นพบผลิตภัณฑ์ และสร้างความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ใหม่
เป้าหมาย: สร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่ทันสมัย
KPIs: เพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดใน Asset Library ลดต้นทุนของการทำคอนเทนต์ ลดเวลาที่ใช้ในการสร้างคอนเทนต์ และให้เวลากับการตามกระแสหรือเทรนด์ใหม่ๆ บนโซเชียลมีเดีย
ตั้งงบประมาณและรางวัลสำหรับ Micro-Influencer
หลังจากรู้เป้าหมาย และตั้ง KPIs เพื่อไปให้ถึงจุดประสงค์ในการใช้ Micro-Influencer เพื่อทำการตลาดแล้ว ขั้นตอนถัดมาคือการตั้งงบประมาณสำหรับการจ้าง Micro-Influencer มาร่วมทำแคมเปญ นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังสามารถเสนอรางวัลให้ Micro-Influencer ที่สามารถเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ให้ลึกขึ้น และเพื่อให้พวกเขาอยากสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพให้กับแบรนด์ โดยรางวัลไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงเสมอไป เช่น
- ให้ผลิตภัณฑ์ฟรีแก่ Micro-Influencer เพื่อลองใช้งาน และแบ่งปันประสบการณ์จริงกับผู้ติดตาม
- สร้างส่วนลดส่วนบุคคลและรหัสโปรโมชั่นเฉพาะสำหรับ Micro-Influencer แต่ละคน เพื่อให้พวกเขาได้รับรางวัลทุกครั้งที่มีคนซื้อสินค้าด้วยรหัสเหล่านั้น
- เสนอการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ก่อนเปิดตัว และก่อนที่จะเผยแพร่สู่สาธารณะ
- มอบคำเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษของแบรนด์
เลือก Micro Influencer ที่ใช่
สำหรับแบรนด์ที่มีกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะกลุ่ม แน่นอนว่าการทำงานร่วมกับ Micro-Influencer นั้น ไม่ใช่ใครก็ได้ แต่ต้องเป็น Micro-Influencer ที่ใช่ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ได้อย่างตรงจุด โดยแบรนด์อาจหา Micro-Influencer ที่ใช่ได้โดย ใช้ Influencer Marketing Platforms ซึ่งเป็นแหล่งรวม Influencer ที่หลากหลาย การค้นหาในโซเชียลมีเดียโดยตรง หรือขอคำแนะนำจาก connection เช่น ธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายคล้ายกัน หรือลูกค้า เพื่อให้ได้ Micro-Influencer ที่ใช่ที่สุดสำหรับแบรนด์ของคุณ
เลือกช่องทางที่เหมาะสม
นอกจากการมี Micro-Influencer ที่ใช่แล้ว การเลือกช่องทางในการทำการตลาดออนไลน์ที่ใช่ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ควรตระหนักถึง เพราะไม่ใช่ทุกประเภทของคอนเทนต์ที่จะเหมาะสมกับทุกแพลตฟอร์ม เนื่องจากพฤติกรรมของผู้ใช้งานในแต่ละแพลตฟอร์มแตกต่างกัน การทำคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับแพลตฟอร์มนั้นๆ จึงมีส่วนช่วยในการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมได้ดี เช่น
- Facebook: วิดิโอสั้น, รูปภาพ, Live สด, บทความ
- TikTok: วิดิโอสั้น, Live สด
- Instagram: วิดิโอสั้น, รูปภาพ
- YouTube: วิดิโอสั้น, Live สด
- Twitter: Live สด, Audio Chat, บทความ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: hubspot
บรีฟงานสำหรับ Micro Influencer
ก่อนที่จะมอบหมายงานให้ Micro-Influencer ขั้นตอนที่ขาดไม่ได้คือ การทำบรีฟเพื่อให้ Micro-Influencer เห็นภาพไปทางในเดียวกับแบรนด์ และเข้าใจรายละเอียดงานมากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลที่ควรมี ได้แก่
- รายละเอียดงาน บรีฟ หรือไอเดีย
- วันที่งานต้องเสร็จ (Due Date)
- วันเผยแพร่ผลงาน (Publish Date)
- แคมเปญและจุดประสงค์ของผลงาน
- ช่องทางที่เผยแพร่ เช่น เว็บไซต์, อีเมล, Social Media, YouTube
- Task หรือคอนเทนต์ที่จะทำ
วัดผลการทำงาน
หลังจากที่ Micro-Influencer ได้ลงคอนเทนต์ไปทางโซเชียลมีเดียของตนเอวแล้ว ขั้นตอนที่จะทำให้รู้ถึงประสิทธิภาพของการทำการตลาดโดยใช้ Micro-Influencer คือการวัดผล ROI ของแคมเปญ เช่น ยอด View Reach จำนวนคนกดไลก์ จำนวนคนที่กดเข้ามาลงทะเบียนใน Landing Page เป็นต้น เพื่อพัฒนาต่อยอดให้ได้ผลดีขึ้นในการทำแคมเปญครั้งถัดไป โดยสามารถติดตั้ง UTM และฟังก์ชันติดตามผลของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อวัดผลการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างการใช้ Micro Influencer เพื่อทำการตลาดออนไลน์
Clinique Thailand
Cerave Thailand
Cr. Cerave Thailand
Jelly Bunny Thailand
Innisfree Thailand
สรุป
ปัจจุบันการใช้ Micro-Influencer กลายเป็นที่นิยมกันในแบรนด์ใหม่ๆ มากขึ้นเนื่องจาก Micro-Influencer ถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้สามารถพบว่าที่ ‘ลูกค้า’ ได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้แบรนด์ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้เร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการรับรู้ การเพิ่มการมีส่วนร่วม การเพิ่มยอดขาย และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า เพราะฉะนั้นนักการตลาดและแบรนด์ควรศึกษาการทำการตลาดออนไลน์โดยใช้ Micro-Influencer เพื่อทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ตาคุณแล้ว
การทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ยากเกินความสามารถถ้าหมั่นเรียนรู้และลองลงมือทำจริง อีกทั้งกลยุทธ์การทำการตลาดโดยใช้ Micro-Influencer ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในยุคนี้ หากเพื่อนๆ สนใจกลยุทธ์ Influencer Marketing สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Influencer Marketing คืออะไร เป็นใครได้บ้าง? มาจับมือคนดังสร้างแคมเปญออนไลน์กัน และอย่าลืมนำเทคนิค 7 ขั้นตอนในการทำการตลาดออนไลน์ด้วย Micro-Influencer ไปลองใช้กันนะ