โลกสวยด้วยมือเรา…

หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า “มือ” ที่พูดถึงในประโยคข้างบนจะรวมไปถึงมือของนักการตลาดไปด้วย

โดยวันนี้อยากจะชวนคุณมารู้จักกับ Green Marketing ซึ่งเป็นโอกาสใหม่สำหรับธุรกิจในยุคที่คนต่างหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น พร้อมกับรู้จักกลยุทธ์ที่จะช่วยทำให้แบรนด์ของคุณดูน่าสนใจในสายตากลุ่มลูกค้าสายกรีนมากขึ้น!

ที่สำคัญไปมากกว่านั้น กรณีศึกษาจากแบรนด์ต่างๆ ที่จะหยิบยกขึ้นมาเล่าในวันนี้ก็จะเน้นไปที่แบรนด์ในไทยเป็นหลัก เพื่อเป็นไอเดียให้คุณได้มองหา Community ธุรกิจสายกรีนในประเทศไทยกันค่ะ

อย่ารอช้า ตามไปดูกันเลยว่าธุรกิจสายกรีนมีอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง!

Green Marketing คืออะไร?

Green Marketing หรือเป็นที่รู้จักในไทยว่า “การตลาดสีเขียว” ก็คือ กลยุทธ์ที่ธุรกิจต่างๆ มุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) และส่งเสริมการผลิตสินค้าที่คำนึงถึงประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

การตลาดสีเขียวก็คือการแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าธุรกิจมีวิสัยทัศน์อย่างไรในการผลิตสินค้า ‘สายกรีน’  หรืออาจเป็นการสื่อสารกับผู้บริโภคว่าแบรนด์สนับสนุนความคิดริเริ่มที่รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอย่างไรบ้าง?

จุดมุ่งหมายสำคัญของ ‘การตลาดสีเขียว’ คือ ความพยายามและการสร้างสรรค์ทั้งในส่วนของขั้นตอนการผลิตและการบริโภคให้ผู้คนหันมามีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ประโยชน์ของ Green Marketing ที่คุณควรรู้

1. New Market

ตลาดสายกรีนมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นในอนาคต เพราะเป็นตลาดใหม่ที่การแข่งขันไม่ได้สูงมากนัก และมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจมากขึ้น

นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าเองก็ยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และยินดีเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อแลกกับการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น การเลือกผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การตลาดสีเขียวจึงช่วยเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ให้ธุรกิจของคุณและสังคมได้อย่างยั่งยืน

2. Storytelling

ด้วยความสนใจของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น หลายคนก็ต้องการรับรู้ว่าผลิตภัณฑ์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร และการใช้สินค้าเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่อย่างไรบ้าง

และจากที่ได้กล่าวไปในตอนแรกว่าการผลิตสินค้าสายกรีนก็มีจะค่าต้นทุนที่ตามมาเช่นกัน ดังนั้นการตลาดแบบรักษ์โลกนี้จึงเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กับกลุ่มลูกค้า โดยทางแบรนด์จะต้องมีกลยุทธ์ทางการเล่าเรื่องที่ดีพอ ต้นทุนส่วนนี้เองก็เป็นส่วนที่ลูกค้ายินยอมที่จะจ่ายเพิ่มเติมด้วยความเข้าใจ

พูดง่ายๆ ก็คือ คุณสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการได้ผ่านการเล่าเรื่องที่มีคนเต็มใจรับฟัง ขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังจะเสนออะไรให้เขานั่นเอง

3. Credibility & Brand loyalty

การกำหนด Brand Position ให้เป็น ‘สายกรีน’ นั้นจะทำให้แบรนด์ของคุณดูโดดเด่นกว่าแบรนด์อื่น เพราะเดิมทีกลุ่มลูกค้าที่สนใจตัวผลิตภัณฑ์สายกรีนเองก็มีความตั้งใจซื้ออยู่แล้ว

แบรนด์ของคุณก็จะมีภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในฐานะแบรนด์ที่กล้าออกมาแบกรับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ด้วยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าของคุณอยู่แล้ว และหากสินค้าของคุณสามารถพิสูจน์ความคุ้มค่าและพิชิตใจลูกค้าได้ คุณก็จะได้ลูกค้าขาประจำที่อยู่คู่กับแบรนด์อีกยาวนาน เพราะทุกคนต่างก็มองหาความยั่งยืนในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

หรือเพียงแค่คุณปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติภายในองค์กรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ปรับให้องค์กรดิจิทัล หรืออาจเป็นแบบ Paper-less ซึ่งใช้ทรัพยากรน้อยลง เพียงเท่านี้แบรนด์ก็มีภาพลักษณ์ถูกใจสายกรีนมากขึ้นแล้วค่ะ

4. Long Term Growth

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเทรนด์ธุรกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต แม้ว่าอาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรก แต่ผลตอบแทนที่จะได้รับในภายหลังนั้นคุ้มค่าเป็นอย่างมาก

เพราะแบรนด์ของคุณไม่เพียงแต่จะมีความโดดเด่นและได้รับความชื่นชอบจากผู้บริโภคจนกลายเป็น ฺBrand Loyalty แต่ยังจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจในระยะยาว ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

Green Marketing Mix กลยุทธ์ใหม่หน้าคุ้น

แน่นอนว่าหากใครกำลังเริ่มต้นมองหาแนวทางการเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองไปสู่ธุรกิจสายกรีนอาจมองว่าจะต้องรื้อกลยุทธ์การตลาดใหม่เลยหรือเปล่า?

คำตอบคือ ไม่ค่ะ จริงๆ แล้วการเริ่มต้นทำ Green Marketing นั้นง่ายกว่าที่คุณคิด!

เพราะกลยุทธ์การตลาดสีเขียวสามารถทำควบคู่ไปกับ กลยุทธ์การตลาด 4P แบบที่เราคุ้นชินกันได้ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Green Marketing Mix นั่นเอง

ที่มา: analyticssteps.com

1. Green Product สินค้าสีเขียว

ปัจจัยแรกที่ขาดไม่ได้ในการทำธุรกิจก็คือ สินค้า แต่สินค้าในมุมมองของการตลาดสีเขียวก็คือ การมีจุดขายหลักเป็นแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อม

ไม่ว่าจะสินค้าของคุณจะเป็นทั้งสินค้าหรือบริการในรูปแบบที่จับต้องได้ หรือจับต้องไม่ได้ก็ตาม คุณสามารถเพิ่ม Concept เรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ตั้งงแต่ขั้นตอนการผลิต หรือแม้กระทั่งการออกแบบรูปแบบสินค้าและบริการ

เช่น วางแผนขั้นตอนการผลิตสินค้าให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงและปราศจากมลภาวะ หรืออาจมีการป้องกันและขจัดของเสียที่เกิดจากการผลิต เป็นต้น

2. Green Price ราคาสีเขียว

ในส่วนของการตั้งราคาสินค้าและบริการ ทำให้ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น Brand Positioning กลยุทธ์การตั้งราคา (Pricing Strategy) รูปแบบการจ่ายเงิน (Payment Form) หรือส่วนลด (Discount)

ซึ่งข้อดีของการทำกลยุทธ์การตลาดสีเขียวนั้นจะช่วยให้ขั้นตอนการวิเคราะห์ราคาสินค้าของคุณง่ายขึ้นเยอะ เพราะการทำการตลาดสีเขียวนั้นทำให้คุณมี Brand Position ที่เป็นก้าวแรกในการตั้งราคาสินค้าของคุณชัดเจนขึ้นทันตาเห็น

อย่างไรก็ดี ข้อควรระวังคือการคำนวณต้นทุนของสินค้าสายกรีนนั้นแบ่งได้ 2 ประเภท นั่นคือ ต้นทุนการผลิต กับ ต้นทุนสิ่งแวดล้อม ทำให้ลูกค้าอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมกับต้นทุนของแบนด์ที่ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน

ดังนั้น การกำหนดราคานั้นควรคำนึงถึงความคุ้มค่าในมุมของลูกค้า โดยทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าสินค้าของคุณมีคุณภาพและใส่ใจธรรมชาติอย่างแท้จริง เช่น เปิดเผยข้อมูลความเป็นสายกรีนของสินค้าของคุณให้ได้มากที่สุด

Note: Vision ของการตั้งราคาสายกรีนไม่ควรเริ่มจากข้อกังวลเรื่องกำไรที่น้อยลงเมื่อเทียบกับธุรกิจ ‘สายโนกรีน’ แต่ควรมองว่าเป็นการทำธุรกิจที่เน้นการทำกำไรอย่างยั่งยืน

3. Green Place สถานที่สีเขียว

คำว่า ‘สถานที่’ ในการตลาดสีเขียวนั้นอาจมองได้ในเชิงการจัดจำหน่าย แน่นอนว่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ยานพาหนะต่างๆ ในการขนส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค

ดังนั้น การเลือกวิธีการกระจายสินค้า ทั้งในแง่การวางสินค้าเพื่อจำหน่าย หรือบริการส่งสินค้า ให้สอดคล้องกับการตลาดสีเขียวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน เช่น เลือกวิธีการกระจายสินค้าที่จะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

4. Green Promotion การโปรโมตสีเขียว

แนวทางการโฆษณาโปรโมตสินค้านั้นจะเน้นอยู่ที่การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังลูกค้าและกลุ่มเจ้าของธุรกิจด้วยกันให้เกิดความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม

โดยวันนี้ก็อยากแนะนำ 3 ทริคง่ายๆ ในการโฆษณาสายกรีน โดยคุณสามารถโปรโมตได้โดย . . .

  • What: ตอกย้ำถึงความตั้งใจว่าแบรนด์ของคุณจะทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมได้บ้าง
  • How: เน้นความเชื่อมโยงว่าสินค้าคุณจะช่วยรักษาสิงแวดล้อมอย่างไร
  • For Whom: ผลักดันให้ลูกค้าเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่สายกรีนหรือสายออร์แกนิกให้ง่ายขึ้น

กลยุทธ์ ENVI Strategy

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณเองก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่สนใจจะหันมาสู่ธุรกิจสายกรีนไม่มากก็น้อย แต่โจทย์หลักที่เหลือตอนนี้ก็เป็นคำถามที่ว่า จะทำยังไงให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นล่ะ?

จากการศึกษาหัวข้อการตลาดโลกสวย “Voice of Green” โดย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU พบว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดที่ชื่อว่า ENVI ซึ่งจะประกอบด้วย 

ที่มา: techsauce

1. Early ปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่

เริ่มต้นจากสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้คน Gen Y และ Gen Z ที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญของตลาดในอนาคต เพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนกลุ่มนี้จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในระยะยาว

โดยทางแบรนด์อาจเริ่มจากการโฆษณา Concept ที่ทำได้ง่ายๆ เช่น การกินข้าวให้หมดจาน การประหยัดน้ำประหยัดไฟ เพื่อให้คนที่ยังเป็น ‘สายโนกรีน’ ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองได้ไม่ยากเกินไป 

2. Now or Never ลงมือแก้ไขปัญหาทันที

เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดผู้บริโภคสายโนกรีน หรือกลุ่มคนที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อย แบรนด์ควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารเพื่อสร้างการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ

โดยอาจเป็นการให้ความรู้แก่สายโนกรีนถึงความจำเป็นว่าถึงเวลาที่เราต้องปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นว่าปัญหาอยู่ใกล้ตัวมากแค่ไหน เช่น สภาพอากาศแปรปรวน อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น น้ำท่วมเพราะฝนที่ตกไม่ตรงตามฤดูกาล

3. Viral สื่อสารปัญหาอย่างทั่วถึง

การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลายก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจ

เช่น ใช้โซเชียลมีเดียให้ผู้รับชมสามารถสื่อสารต่อๆ กันไปจนเกิดเป็นกระแสบอกต่อ ทำให้ได้ทั้งการตระหนักรู้อย่างเป็นวงกว้าง และอาจนำไปสู่กลายเป็น Impact อย่างเป็นรูปธรรมในการเปลี่ยนแปลงโลก

4. Innovation ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและดีไซน์

การใช้นวัตกรรมมาผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงการออแบบผลิตภัณฑ์แบบรักษ์โลกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยดึงดูดสายตาผู้บริโภคให้หันมาสนใจแบรนด์ของคุณได้มากขึ้น

เช่น คิดค้นการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การหันมาใช้ระบบดิจิทัลกับระบบการจัดการภายในองค์กรเพื่อผลักดันองค์กรแบบ Paper-less

กรณีศึกษาจากแบรนด์ต่างๆ

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่ากลยุทธ์การตลาดสีเขียวสามารถนำไปประยุกต์กับธุรกิจได้ไม่ยากและเริ่มทำได้เลย

วันนี้จึงอยากแนะนำให้รู้จักแบรนด์ต่างๆ ที่เป็นผู้จำหน่ายทั้งในรูปแบบของสินค้า และรูปแบบของบริการ ให้คุณได้เห็นภาพและไอเดียในการทำธุรกิจสายกรีนที่หลากหลายมากขึ้น

IKEA

หากพูดถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่โด่งดังในด้านเฟอร์นิเจอร์ก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก IKEA

ปัจจุบันนี้คงจะเริ่มสังเกตเห็นแล้วว่า IKEA หันมามุ่งเน้นด้านพลังงานหมุนเวียน และระบบการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

โดยกลยุทธ์หลักของแบรนด์ก็คือ ‘People & Planet Positive’ ที่ริเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 โดยจะส่งเสริมแนวทางการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความพยายามในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงมีกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

โดยแนวโน้มรูปแบบธุรกิจของ IKEA นั้นจะหันเข้าสู่ธุรกิจหมุนเวียนมากขึ้น อย่างแคมเปญต่างๆ ที่ได้รับโปรโมตมาตลอดในช่วงนี้ เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิลทดแทนและวัสดุรีไซเคิล บริการรับซื้อ-ขายเฟอร์นิเจอร์อิเกีย

 ที่มา: ikea.com

 

Greenery Water

ไม่ต้องไปไกลถึงต่างแดน ที่ประเทศไทยเราเองก็มีตัวอย่างธุรกิจสายกรีนที่น่าสนใจอย่าง Greenery Water

เป็นแบรนด์น้ำดื่มที่มีจุดแข็งจากการนำนวัตกรรมและการดีไซน์บรรจุภัณฑ์แบบรักษ์โลกมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์น้ำดื่มแบบกระป๋องที่สามารถรีไซเคิลได้แบบ 100%

แต่ความกรีนที่แท้จริงของ Greenery Water อยู่ที่วัสดุที่ใช้ผลิตกระป๋อง นั่นก็คืออลูมิเนียม

การใช้กระป๋องอลูมิเนียมทำให้รีไซเคิลได้ง่าย ไม่เพียงแต่จะประหยัดทรัพยากรในการผลิตสินค้าขึ้นมาใหม่ แต่ผู้บริโภคเองก็จะได้ประหยัดพลังงานในการแช่น้ำดื่มด้วย เพราะน้ำเย็นเร็วขึ้นและรักษาความเย็นได้นานกว่า

เรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นมาจาก Pain Point ของคนประเทศอากาศร้อนอย่างไทยจริงๆ ค่ะ!

 ที่มา: greenerywater.com

Rii Skincare Cotton

ใครว่าธุรกิจสายกรีนมีแต่ผลิตภัณฑ์ที่ซ้ำและจำเจ? แม้แต่ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลผิวพรรณก็ยังกรีนได้!

แบรนด์ริอิ (Rii) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจว่าหากเริ่มคิดที่จะกรีนแล้ว ไม่ว่าธุรกิจสายไหนก็สามารถกรีนได้เช่นกัน

เช่นกัน

เช่นกัน


ที่มา: riicotton.com

อย่างล่าสุดที่ริอิได้เข้าร่วมโครงการ Circular Mark ด้วยสินค้า Rii Cotton Buds ในฐานะบริษัทนำร่องกลุ่มแรกในไทย

ซึ่งเจ้า Circular Mark นี้ก็คือสัญลักษณ์ที่รับรองและตอกย้ำความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าสินค้ามีการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้เกิดการหมุนเวียนของวัสดุ มีกระบวนการผลิตมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Image
ที่มา: twitter

Refill Station

หลังจากที่พาไปดูไอเดียเกี่ยวกับสินค้าแบบรูปธรรมแล้ว ตอนนี้อยากลองชวนมาดูธุรกิจประเภทการให้บริการกันค่ะ

Refill Station เป็นร้านค้าขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทยที่เป็นร้านสะดวกซื้อโดยไม่ง้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบที่เราเคยเห็นทั่วไป

โดยในร้านก็จะให้บริการโดยจัดเตรียมสินค้าเพื่อสายกรีนโดยเฉพาะ มีทั้งผลิตภัณฑ์อย่างแชมพู สบู่ น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเช็ดถู หรือการซักผ้า ให้ลูกค้าได้เลือกสรรไปใช้ในชีวิตประจำวัน

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีบริการในการจัดจำหน่ายสินค้าทางเลือกเพื่อลดขยะพลาสติกที่ไม่จำเป็น ทั้งตรงโจทย์และตรงใจกลุ่มผู้บริโภคสายกรีน

ตรงโจทย์และตรงใจกลุ่มผู้บริโภคสายกรีน

ที่มา: refillstationbkk.com

สรุป

กลยุทธ์ Green Marketing นั้นไม่ยากอย่างที่คิดเลยใช่ไหมคะ เพราะสามารถนำไปปรับใช้กับกลยุทธ์การตลาดแบบดั้งเดิมอย่าง 4P ที่เราคุ้นเคยกันได้

นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์การตลาดโลกสวยสำหรับสายกรีนโดยเฉยเฉพาะอย่าง ENVI Strategy ที่จะช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าให้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สุดท้ายนี้ก่อนจะลากันไปก็อยากฝากแบรนด์สายกรีนตัวอย่างในไทยไว้เป็นไอเดียสำหรับคนที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะแต่ละแบรนด์ที่หยิบยกมานั้นแม้ว่าจะมาจากธุรกิจคนละสายงานกันแต่ทุกแบรนด์มีใจรักธรรมชาติเหมือนกัน

ตาคุณแล้ว

เป็นยังไงกันบ้างคะกับกลยุทธ์การตลาดสีเขียว ตอนแรกอาจดูเหมือนเป็นเทรนด์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ใครจะไปรู้ว่าเป็นเรื่องที่มีคนเริ่มสิบปีแล้ว!

หวังว่าบทความนี้จะได้กลายเป็นจุดเล็กๆ ที่จะช่วยจุดประกายไอเดียของคุณในการหันมาเป็นแบรนด์สายกรีนนะคะ และหากใครมีแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบรนด์อื่นที่น่าสนใจ อย่าลืมมาแบ่งปันกันในคอมเมนต์กันนะคะ