หากเราจะไปที่สถานที่ใหม่ ที่ๆ เราไม่คุ้นเคย การมีแผนที่ไว้ย่อมดีกว่าถูกมั้ยครับ Search Engine เองก็เช่นกัน แม้ว่ามันจะสามารถสำรวจ ตรวจสอบเว็บไซต์ต่างๆ ได้ไวขนาดไหน แต่การมีแผนที่ของเว็บไซต์นั้นๆ ย่อมดีกว่า และช่วยให้สำรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า สิ่งนี้เองทำให้ Sitemap สำคัญครับ

Sitemap คืออะไร

Sitemap คือ แผนที่หรือแผนผังของเว็บไซต์ ที่ช่วยให้ผู้ที่สามารถเข้ามาดูได้ว่าในเว็บของเรานั้นมีหน้าใดบ้าง และสามารถเข้าถึงหน้าต่างๆ ได้ผ่านทางลิงก์ไหนครับ

ซึ่งอดีตเราเน้นทำ Sitemap เพื่อให้ User ทั่วไปที่เพิ่งเข้ามารู้จักภาพรวมของเว็บไซต์ ว่าหน้าไหนเชื่อมถึงหน้าไหนบ้าง ทางผู้พัฒนาเองก็สามารถเข้ามาตรวจสอบความครบถ้วนจาก Sitemap นี้ได้ และในบทความนี้เราจะขอแนะนำประโยชน์ของ Sitemap ในการทำ Search Engine Optimization (SEO) โดยเฉพาะ

ความสำคัญของ Sitemap

Sitemap หรือผังเว็บไซต์นี่สำคัญขนาดไหน นอกจากความเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ที่ทำให้ผู้ใช้ประทับใจ
เพราะหาอะไรก็เจอได้ในแผนผังนี้ ยังมีด้านที่เกี่ยวกับ SEO อีกด้วย

Feature Image - Site Map - Illust

ทำไมถึงเกี่ยวกับ SEO? ล่ะ เพราะการมี Sitemap จะทำให้ Bot ของ Search Engine ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Google Bing หรือ Yahoo สามารถเดินสำรวจเว็บไซต์เราได้แบบทั่วถึงง่ายขึ้น ไวขึ้น และสามารถระบุได้ว่าเว็บของเรามีข้อมูลอะไร ประเภทไหน ได้ภายในหน้าเพจหน้าเดียว เรียกได้ว่าเป็นมิตรกับบรรดา Search Engine สุดๆ เลยล่ะครับ

ถ้าข้อมูลของ Sitemap มีความครบถ้วน ต่อให้หน้าเว็บหลักของเรามีความขัดข้องบางประการที่รอการแก้ไข ผู้เข้าใช้งานก็ยังสามารถค้นหาหน้าเว็บนั้นจาก Search Engine ได้ อีกทั้งยังมีผลช่วยในการจัดอันดับการค้นหาของ Google Image หรือ Google Video ในกรณีที่เรามีรูป หรือวิดีโอในเว็บไซต์ด้วยครับ

Shifu แนะนำ
หากสงสัยเกี่ยวกับ Bot หรือระบบการสืบค้นของ Google คุณสามารถอ่านการทำงานของ Search Engine อย่างง่ายได้ใน บทความ ทำไมคุณถึงควรเข้าใจการทำงานของ Search Engine เพื่อทราบรายละเอียดในส่วนนี้เพิ่มขึ้นครับผม

Sitemap มีกี่ประเภท

การแบ่งประเภทของ Sitemap สามารถแบ่งได้ด้วยหลายปัจจัยครับ ทั้งแง่การใช้งาน ชนิดของไฟล์ที่อยู่ใน Sitemap ไปจนถึงความเข้าใจของแต่ละบุคคล ซึ่งในบทความนี้เราจะแบ่งประเภทของ Sitemap เป็นสองประเภทใหญ่ๆ ตามการใช้งาน ดังนี้ครับ

1. HTML Sitemap

HTML Sitemap เป็น Sitemap ที่ทำงานเหมือนสารบัญเว็บไซต์ ที่เน้นให้ฝั่ง User รู้ว่าในเว็บไซต์ของเรามีหน้าเพจอะไรบ้าง ซึ่งจะไม่ค่อยมีความยิบย่อยมากนัก มีชื่อเรียกของหน้าเพจต่างๆ ให้ฝั่ง User เข้าใจ ไม่ใช่แค่เป็น URL

2. XML Sitemap

XML Sitemap คือ Sitemap ที่ทำหน้าที่เป็นสารบัญเช่นกัน แต่มีความแตกต่างคือจะเน้นให้ฝั่ง Bot ของ Search Engine เข้ามาสำรวจมากกว่า เพื่อการทำ SEO ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่ง Sitemap ประเภทนี้จะมีความละเอียด ลงลึก รวมถึงเน้นเป็น URL ในแต่ละหน้าหรือแต่ละรูปโดยไม่มีชื่อ​ Sitemap กำกับ

นอกจาก XML Sitemap สำหรับรวบรวม URL ธรรมดาในหน้าเว็บไซต์ของเราแล้ว ยังมี XML รูปแบบอื่นๆ ที่ถูกปรับใช้เพิ่มเติมอีก 4 ประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของ Google และ Search Engine อื่นๆ ดังนี้ครับ

  • Image Sitemap : คือ Sitemap ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อระบุ URL ของรูปต่างๆ ในเว็บไซต์ของเรา โดยสามารถระบุข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับรูปนั้นเพิ่มได้ การมี Image Sitemap จะช่วยให้สถิติการค้นหาเว็บของเราจาก Google Image Searh ดีขึ้นครับ
  • Video Sitemap: คือ Sitemap สำหรับวิดีโอโดยเฉพาะ โดย Sitemap ชนิดนี้จะมีหลักการทำงานคล้ายกับ Image Sitemap คือเราสามารถระบุชื่อ ชนิด และรายละเอียดอื่นๆ ของวิดีโอเข้าไปได้ และจะช่วยให้ Google Video Search สามารถมองเห็นเราได้ง่ายขึ้นด้วย 
  • News Sitemap: Sitemap ชนิดนี้คือ Sitemap สำหรับข่าวต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ในเว็บไซต์ของเรา ซึ่งจะทำให้ข่าว หรือบทความ สามารถขึ้นไปอยู่ในหน้าฟีดข่าวของ Google และทาง Google จะส่ง Bot มาสำรวจหน้าเพจของเราเพื่อหาข้อมูลข่าวต่างๆ เพิ่มขึ้นเช่นกัน  
  • Mobile Sitemap : Sitemap รูปแบบนี้มีเพื่อโทรศัพท์ระบบ Feature Phone หรือโทรศัพท์แบบเดิมๆโดยเฉพาะ ซึ่ง Sitemap แบบนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมแล้ว เนื่องจากการมาของ Smart Phone

จะสังเกตได้ว่า แม้ในปัจจุบัน ทาง Google Bot จะมีการพัฒนา Algorithm ให้มีการสำรวจได้หลากหลาย ละเอียด และครอบคลุมมากขึ้นแล้วก็จริง แต่การทำ Sitemap ให้มีระเบียบแบบแผนดังนี้ นอกจากจะช่วยให้การค้นหาของ Google มีคุณภาพขึ้นแล้ว ยังทำให้การเสิร์ชส่วนอื่นๆ เช่น รูปภาพ วิดีโอ สามารถเจอเว็บไซต์เราได้ง่ายขึ้นด้วย

วิธีสร้าง Sitemap

เราจะสร้าง Sitemap ได้ยังไง? สำหรับคนที่ไม่ได้เป็น Developer หรือทำงานสายเว็บไซต์โดยตรงอาจสงสัยในส่วนนี้ ซึ่งจริงๆ มันทำไม่ยาก และมีวิธีการที่หลากหลายมากครับ ในบทความนี้ผมจะยกตัวอย่างสองวิธีการง่ายๆ สามารถทำได้เลย สำหรับสร้าง Sitemap ครับ

1. ใช้ XML-Sitemap.com

นี่คือหนึ่งในวิธีที่ง่าย มีประสิทธิภาพ และค่อนข้างเป็นมิตรกับมือใหม่ครับ โดยการใช้เว็บไซต์ www.xml-sitemaps.com ในการทำ XML Sitemap โดยจะมีวิธีการดังนี้

1.1. เข้าเว็บไซต์ www.xml-sitemaps.com

วิธีทำ XML-Sitemap

1.2. กรอก URL ของเราในช่องที่ระบุตรงกลางจอ แล้วกด Start แล้วรอให้เว็บไซต์ทำงานเพื่อสำรวจข้อมูลของเว็บไซต์เรา

1.3. เมื่อเสร็จแล้ว เราสามารถดาวน์โหลดไฟล์ xml มาใช้ได้เลยครับ

2. ใช้ WordPress Plugin

วิธีการนี้จะเหมาะกับผู้ที่ใช้ WordPress ในการพัฒนาเว็บไซต์ครับ เพราะเราสามารถทำ xml ผ่านหลังบ้านได้เลย โดย Plugin ที่จะแนะนำในวันนี้คือ Yoast SEO ครับ

วิธีการคือ

  1. เข้าไปที่ Feature ของ Yoast SEO
  2. กดเปลี่ยน XML Sitemaps ให้เป็น On
  3. กด Save Change

การทำ XML-Sitemap ด้วย Yoast

หากทำตามขั้นตอนแล้ว ตัว Sitemap จะถูกสร้างขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ซึ่ง XML Sitemap คุณสามารถกดปุ่ม ‘See the XML sitemap’ เพื่อดู Sitemap ที่สร้างขึ้นได้ ยกตัวอย่างของ Content Shifu จะมีหน้าตาแบบนี้ครับ

ตัวอย่าง XML-Sitemap

เพียงขั้นตอนง่ายๆ ดังกล่าว คุณก็สามารถได้ Sitemap ไปใช้กันแล้ว และหลังจากนี้เรามาดูวิธีการ Submit ในหัวข้อถัดไปกันครับ

การ Submit Sitemap

ก่อนจะเข้าหัวข้อนี้ เพื่อความเข้าใจโดยทั่วกันผมขออนุญาตแนะนำให้คุณติดตั้ง Google Search Console ก่อนครับ ซึ่งสามารถดูวิธีการติดตั้งได้ที่ แนะนำ Google Search Console

ทำไมถึงต้องติดตั้ง? เพราะหนึ่งในวิธีการที่จะ Submit Sitemaps ได้ง่ายที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการทำมันผ่าน Google Search Console

ซึ่งวิธีการอย่างละเอียด ลองดู Step by Step ได้จากวิดีโอนี้ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคุณท็อป วิทยากรคอร์สเรียน SEO ของเราครับ

สรุป

เมื่อ Submit ไปแล้ว ก็เท่ากับว่าคุณได้ยื่นแผนที่นำทางให้กับบรรดา Search Engine แล้ว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับคุณล่ะครับว่าจะสามารถพัฒนาเว็บไซต์ และคอนเทนต์ของตัวเองให้ดึงดูดผู้ชมและเหล่า Bot ขนาดไหนกันแน่

ตาคุณแล้ว

นี่คือหนึ่งในหลากหลายวิธีที่ทาง Content Shifu เลือกทำ ทั้งเพื่อตีซี้กับบรรดา Search Engine และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเว็บไซต์ครับ แล้วคุณล่ะครับ ใช้วิธีการ Submit Sitemap รึเปล่า หรือมีวิธีการอื่นๆ ก็สามารถแบ่งปันกันได้นะครับผม

New call-to-action