สัปดาห์ที่ผ่านมา พี่แบงค์และอร ได้เริ่มต้นงานบรรยาย Inbound Marketing ครั้งแรกของพวกเรา สำหรับพวกเราเองยังเป็นเพียงผู้บรรยายมือใหม่เท่านั้น แน่นอนว่านอกจากมันจะเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจส่งต่อความรู้แล้ว เราก็ไม่พลาดที่จะเก็บตกประสบการณ์เหล่านี้มาเป็นบทเรียนสำหรับตนเองด้วย

บทความนี้สามารถอ่านได้ ไม่ว่าคุณจะเคยเป็นผู้ฟังของพวกเรามาก่อนแล้วหรือไม่

สำหรับผู้ที่อาจจะไม่ได้ทราบข่าวเรื่องงานบรรยายของเรามาก่อน ขออนุญาตเกริ่นก่อนว่า พี่แบงค์และอร ได้มีโอกาสบรรยายครั้งแรกที่งาน Inbound Marketing for Your Business จัดที่ Discovery HUBBA และครั้งที่สองที่งาน Creative Talk Conference 2017

contentshifu at creative talk

สิ่งที่พวกเราเรียนรู้ และขอเก็บมาเขียนเป็นบทความ ได้แก่

สิ่งที่พวกเราทดลองในงานบรรยาย

สิ่งที่พวกเราใส่เข้าไปในการบรรยายของพวกเรา เพื่อทำการเรียนรู้-ทดลอง มีองค์ประกอบ ดังนี้

ส่วนแรก: บรรยายเรื่องความรู้ความเข้าใจในเรื่อง Inbound Marketing โดยมีเนื้อหาย่อยๆ ประกอบไปด้วย

  • ที่มาที่ไป ทำไมถึงควรทำ Inbound
  • องค์ประกอบในการทำ Inbound เช่น การทำคอนเทนต์, การทำ Buyer Persona
  • Inbound Marketing Framework (Attract, Convert, Close, Delight)
  • เครื่องมือที่สามารถใช้ได้ในการทำแต่ละขั้นตอน
  • กรณีศึกษาของคนที่พวกเราคิดว่าทำ Inbound ได้ดี

ส่วนที่สอง: เป็นส่วนที่เราคิดว่าอยากจะให้เรื่อง Inbound เข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งการทำให้เกิดความรู้สึกเข้าถึงง่ายขึ้นนั้น มันก็มีหลายความเป็นไปได้ ได้แก่

  • การให้ตัวเลข/สถิติ ต่างๆ
  • กรณีศึกษาการทำ Attract, Convert ในแบบของ Content Shifu
  • การเผยเบื้องหลังของเทคนิคบางอย่าง หรือเคล็ดลับในการทำงานของบางสิ่งบางอย่าง
  • การให้คำแนะนำ แบบระบุชัดๆ ว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไร & บอกสิ่งที่ควรระวัง จากประสบการณ์ลองผิดลองถูกของพวกเรา

สุดท้าย เราตัดสินใจผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน แล้วลองเทสดูว่าเนื้อหาแบบไหน ใครชอบ ไม่ชอบ ยังไงบ้าง

ความท้าทายที่พวกเราพบ

ก่อนจะเล่าถึงผลลัพธ์ด้านการทดลอง ก่อนอื่นเราอยากขอคั่นรายการ ว่าด้วยเรื่องความท้าทายที่พวกเราพบ ซึ่งได้แก่

Background ของคนที่สนใจ Inbound มีความหลากหลายมาก

ข้อมูลนี้อ้างอิงจากงานที่ Discovery HUBBA ซึ่งเราได้สอบถามข้อมูลของผู้ซื้อตั๋วแบบคร่าวๆ สิ่งที่พวกเราพบ เกี่ยวกับคนฟังของพวกเราคือ

  • อายุเฉลี่ยของผู้ฟังคือ 31 ปี
  • ผู้ฟังส่วนใหญ่ทำอาชีพสาย Marketer คิดเป็น 37.5% ของกลุ่มคนฟังทั้งหมด
  • รองมาคือสายอาชีพ Content Creator คิดเป็น 30% ของกลุ่มคนฟังทั้งหมด
  • เจ้าของกิจการ และ Designer มาในสัดส่วนเท่าๆ กันคืออย่างละ 7.5%
  • นอกนั้นคือระบุมาเป็นอาชีพอื่นๆ

ข้อหนึ่งถึงสาม ค่อนข้างแอบคล้ายกับที่พวกเราแอบคาดไว้ ส่วนสัดส่วนของเจ้าของกิจการน้อยกว่าที่พวกเราคิดเล็กน้อย และ Designer คืออาชีพที่จริงๆ แล้วเราไม่ได้คาดไว้มาก่อน นับว่าน่าสนใจมาก

ด้านบนนี้เป็น Insight ที่พบจากการกรอกแบบฟอร์ม แต่เมื่อได้ทำการบรรยายและพูดคุยแล้ว เราพบว่าความท้าทายของเราคือพื้นฐานด้านการตลาด และด้านดิจิทัลของแต่ละท่านนั้น มีไม่เท่ากัน บางหัวข้ออาจจะง่ายไปสำหรับบางท่าน และอาจจะยังซับซ้อนไปสำหรับบางท่าน กลุ่มผู้ฟังของเราที่เป็น Marketer จาก Agency ก็ถือว่ามีหลายท่านทีเดียว เท่าที่สังเกต กลุ่มนี้จะมีพื้นฐานค่อนข้างดี

สำหรับ Creative Talk Live เนื่องจากเป็นงานใหญ่ และเป็นลักษณะเดินเวียนห้อง พวกเราจึงไม่ทราบเกี่ยวกับ Audience ของเราอย่างแน่ชัด แต่เราเชื่อว่าน่าจะหลากหลายมากยิ่งกว่าที่ Discovery HUBBA

คนฟังมาด้วยจุดประสงค์ที่หลากหลาย

อีกหนึ่งความท้าทายที่พวกเราพบก็คือว่า ผู้ฟังของเรานั้น ส่วนใหญ่กำลังมีปัญหาต้องการความช่วยเหลือ และแต่ละคนก็มาด้วยปัญหาที่ต่างกัน บางคนต้องการไอเดียในการวางแผนการทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจ บางคนต้องการเรียนรู้เรื่องการเลือกคีย์เวิร์ดในการเขียนบทความ บางคนอยากทราบเรื่องการทำเว็บและเครื่องมือต่างๆ บางคนอยากให้เราช่วย Optimize workflow ที่เขาทำอยู่ เป็นต้น

ช่วงตอบคำถาม ที่ Discovery นั้น เราจึงได้รับคำถามที่หลากหลายมาก มีความเมามันในการถาม-ตอบ

ในบางงานบรรยาย ก็มีปัจจัยที่พวกเราควบคุมไม่ได้

งานที่ Creative Talk ถือว่าเป็นความท้าทายของพวกเราทีเดียว นอกจากเรื่องความหลากหลายของคนฟังแล้ว เรายังพบความท้าทายที่ควบคุมไม่ได้หลายประการ เช่น ไม่สามารถควบคุมเวลาคนเดินเข้าออกเองได้ การคุมเวลาสำคัญมาก และไม่มีเวลาสำหรับ Ice breaking หรือ Q&A อย่างเพียงพอ นั่นทำให้ทั้งพี่แบงค์ และอร รู้สึกว่า Performance ของพวกเราในงานวันนั้น ยังไม่ถึงเป้าที่เราคาดหวังไว้ ต้องขออภัยผู้ฟังในวันนั้นด้วยนะคะ ถ้ายังพูดได้ไม่ดีนัก พวกเราเก็บความท้าทายต่างๆ มาเป็นบทเรียนไว้แล้วค่ะ

สรุปสิ่งที่เราได้เรียนรู้

1. บางครั้ง ตัวเลขก็ไม่สำคัญ

เราอยากจะทำให้งานบรรยายของเรา มีความพิเศษ อยากบอกให้ทุกคนทราบว่า Content Shifu เราไม่มีความลับใดๆ ต่อผู้อ่าน และผู้ฟัง

เราจึงตัดสินใจว่า เราอยากจะแชร์ตัวเลขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถิติเว็บไซต์

เราหยิบตัวเลขจาก Analytics ของเรามาแชร์ เช่น ยอด Pageviews สะสม, ยอด Users, ยอด Shares ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

“สำหรับเว็บไซต์ที่ทำโดยคนสองคน และทำเป็นงานอดิเรก/งานพาร์ทไทม์ พวกเราพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้รับมา” นี่คือข้อความที่เราสื่อสาร

ทว่า จริงๆ แล้วเราพลาดไปหน่อย เพราะกลุ่มคนที่มาคือคนวัยทำงาน และกำลังตั้งใจจะทำบางอย่างอย่างจริงจัง ตัวเลขของเว็บไซต์พวกเรา เป็นแค่สิ่งที่ Just good to know แต่มันไม่ได้สามารถช่วยเหลือ หรือสนับสนุนอะไรพวกเขาเป็นพิเศษ

ดังนั้น การแชร์ตัวเลข แม้จะบ่งบอกว่าเราไม่มีความลับ แต่ก็ยังเป็นความคิดที่ตื้นเกินไป ยังไม่สามารถช่วยเหลือคนฟังได้มากพอ

2. กรณีศึกษาของตัวเอง จำเป็นต้องมี แต่ต้องคั้นเนื้อมาเยอะๆ

สำหรับการใช้ตัวเองเป็นกรณีศึกษานั้น จริงๆ แล้ว ก็เป็นเรื่องน่าลำบากใจไม่น้อย คนที่รู้จักเราอยู่แล้ว จะทราบว่าเราทำอะไรบ้าง เราเขียนบล็อกเรื่องอะไร ลงบ่อยแค่ไหน ส่งอีเมลอย่างไร แต่คนที่ไม่รู้จักเรามาก่อนก็จะไม่ทราบเลย และเป็นเนื้อหาที่จริงๆ ควรทราบ

เรามองว่าส่วนนี้ยังเป็นส่วนที่มีเสน่ห์อยู่ แต่ต้องเตรียมให้มั่นใจว่าจะไม่โม้เรื่องของตัวเองมากจนเกินไป ต้องสรุปคั้นเนื้อออกมาให้ได้มากๆ แต่ไม่ต้องเน้นเลขมากมาย อย่างที่ได้เล่าในข้อแรก

หรือถ้างานครั้งต่อๆ ไปสามารถแยก Audience ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ว่ารู้จักเรามาก่อนหรือไม่ น่าจะช่วยให้ดีไซน์ส่วนนี้ได้ออกมาดีขึ้น

3. การใส่ความคิดเห็นส่วนตัว ต้องมาพร้อมกับ Context ของผู้ฟัง

สำหรับความรู้สึกที่ว่า อยากให้ผู้ฟังได้รับแนวคิดกลับไปปฏิบัติใช้ นั่นทำให้พวกเราใส่ความคิดเห็นส่วนตัวไปค่อนข้างมาก เช่น ความคิดเห็นที่ว่า ไม่ควรพึ่งแต่โซเชียล, Email Marketing เป็นช่องทางที่น่าสนใจ, LINE เป็นโซเชียลที่เราคิดว่าน่าสนใจ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นผ่านประสบการณ์ทำ Content Shifu มา 5 เดือน แต่ทว่าสำหรับผู้ฟังเอง ก็มาพร้อมกับอุตสาหกรรมที่แตกต่างจากเรา ดังนั้นจริงๆ แล้ว เราต้องระวังให้มากขึ้นเรื่องการใส่ความคิดเห็นส่วนตัว …ใส่ได้ แต่ฟันธงไม่ได้ เพราะคนฟังหลากหลาย และมาด้วย Context ที่ไม่เหมือนกัน

4. Q&A คือกล่องดวงใจ

พวกเราคิดว่าสิ่งที่ทำให้ความน่าประทับใจในงานต่างกันก็คือช่วง Q&A

Shifu แนะนำ
Q&A แม้จะมีเวลาน้อยที่สุด แต่มันคือช่วงที่จะชี้ “ความน่าประทับใจ” ของงาน เรื่องนี้จริงๆ แล้วสอดคล้องกับข้อสาม คือคนฟังต้องการคำแนะนำจากเรา แต่เขาต้องการคำตอบใน Context ของเขา

contentshifu bank

5. เทคนิค ถึงแม้จะเล็กๆ น้อยๆ ก็น่าสนใจ

มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่อรตัดสินใจตัดออกจากการบรรยายที่งาน Creative Talk เพราะคิดว่ามันอาจจะไกลตัว คนอาจจะไม่สนใจ นั่นคือเทคนิคการใส่ป๊อปอัป ของเว็บ Content Shifu จริงๆ แล้วมันค่อนข้างเป็นประเด็นเล็กๆ แถมเราเดาเอาว่าหัวข้อ Conversion อาจจะยังไกลตัวสำหรับคนฟัง

ปรากฏว่าน่าเสียดายมากที่ตัดออก เพราะจากการได้ลองนำหัวข้อนี้ไปบรรยายที่ Discovery HUBBA มันเป็นหัวข้อที่ทำให้ห้องมีชีวิตชีวามากขึ้น และคนให้ความสนใจมาก

6. ใส่ Interactive มากขึ้น

พวกเรามาบรรยายสองคนเป็นแพคคู่ แต่ยังใช้ศักยภาพของการมีสองคนได้ไม่เต็มที่

Feedback ที่ได้รับมาคือ เราสองคนสามารถ Interact กันได้มากกว่านี้อีกหน่อย เพราะที่ตัดสินใจทำในครั้งที่ผ่านมาคือว่า พวกเราแบ่งเนื้อหาเป็นสองส่วน แบบความรับผิดชอบอย่างชัดเจน เพราะอยากจะให้คนฟังสามารถใส่สมาธิโฟกัสกับคนๆ หนึ่งได้เต็มที่

แต่ดูเหมือนการแบ่งชัดเกินไป จะทำให้ออกมาดูเคร่งขรึมผิดธรรมชาติของพวกเราไปหน่อย ครั้งหน้าพวกเราจะลองพยายามทำให้งานบรรยายของเรา Interactive มากขึ้น แต่จะรักษาระดับไม่ให้เล่นมากเกินไปจนเสียสมาธิ ครั้งหน้าพวกเราจะลองออกแบบการบรรยายใหม่อีกครั้งนะ 🙂

ตาคุณแล้ว

เราได้เล่าสิ่งที่พวกเราเรียนรู้จากการลองพูดบรรยายเรื่อง Inbound Marketing ไปแล้ว เราหวังว่าผู้อ่านจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากไดอารี่ชิ้นนี้ของเราเช่นกัน หากคุณมีความคิดเห็นประการใด มาพูดคุยกับเราได้เลย

เนื้อหาในบทความนี้ เกิดจากการ Brainstorm ร่วมกันระหว่างอร และพี่แบงค์

ก่อนหน้านี้พวกเราเคยเขียนบทความสไตล์สรุปประสบการณ์แล้ว ติดตามต่อ: 7 เรื่องที่พวกเราเรียนรู้จากการทำ Content Shifu ได้หนึ่งเดือน