เป็นอะไรที่ “ใครๆ ก็พูด” ว่า “คนไทยชอบแชท” ยังไงแชทก็ต้องมา เรียกได้ว่า Facebook Messenger กับ LINE for Business เป็นอะไรที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับธุรกิจ และเมื่อบวกกับเทรนด์เรื่อง Chatbot แล้ว ก็เรียกได้ว่าหลายๆ ธุรกิจแทบจะพยายามทำทุกอย่างให้จบในแพลตฟอร์มแชทที่เดียว
ถึงแม้ทั้ง LINE และ Facebook Messenger จะขึ้นชื่อว่าเป็นแชทเหมือนกัน แต่การจะใช้งานเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุดนั้น มีวิธีคิดและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันอยู่ หากต้องการทำให้ดีและใช้งานอย่างเชี่ยวชาญ เราคิดว่าธุรกิจควรจะเลือกโฟกัส (โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่ยังไม่มีทีมมากมายนัก) มักเป็นที่สังเกตได้ว่าคนที่ใช้ LINE ได้เก่ง อาจจะไม่ได้ใช้ Facebook Messenger ได้เก่งเสมอไป และเช่นเดียวกันกับคนใช้ Messenger ได้เก่ง อาจจะไม่ได้ใช้ LINE ได้เต็มที่เสมอไป
Content Shifu เอง ด้วยความที่เรายังเป็นทีมเล็กๆ (ที่กำลังขยายทีมงาน และรับสมัครงานเพิ่มหลายตำแหน่ง) ที่ผ่านมาเราจึงเลือกโฟกัสที่ Chat Platform เพียงช่องทางเดียวก่อน โดยที่ผ่านมาเราเลือกโฟกัสที่ Facebook Messenger
บทความนี้เป็นบทความพิเศษที่มีเรื่องราวหลายเรื่องอย่างหยิบมาเล่า อรอยากจะเล่าถึงข่าวการเปลี่ยนแปลงของ Facebook Messenger ให้ทุกคนรับทราบ รวมไปถึงรีวิวผลการใช้งาน และกลยุทธ์ที่เราวางแผนว่าจะดำเนินการต่อ ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีความสนใจสร้างฐานทัพบน Chat Platform นะคะ
ทำไมถึง (เคย) สร้างฐานผู้ติดตามด้วย Facebook Messenger
ก่อนอื่นเรากลับมาย้อนดู Background กันก่อนสักนิดว่า Facebook Messenger ที่ผ่านมามีอะไรน่าสนใจและทำให้เหมาะใช้ในการสร้างผู้ติดตาม
ต้นปี 2018 ประเด็นเรื่อง Facebook ลด Reach เป็นประเด็นที่มาแรงมาก ตอนนั้นพวกเราได้เขียนบทความแนะนำการปรับตัวเอาไว้ ซึ่งแบ่งเป็น 1. Off-Facebook คือการอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นนอกเหนือจาก Facebook บ้าง และ 2. On-Facebook คือยังอยู่บนแพลตฟอร์ม Facebook แต่ให้ลองย้ายไปโปรดักต์อื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากการโพสต์บนเพจอย่างเดียว
Facebook Messenger คือหนึ่งใน On-Facebook ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับพวกเราที่ที่ผ่านมาทำคอนเทนต์บน Facebook เป็นประจำอยู่แล้ว การให้คนแชทคุยกับเราต่อได้เลยก็เป็น Call to Action ที่ใกล้ตัวและ Journey ค่อนข้องสมูธ
นอกจากความ “ใกล้” ที่ว่าปุ่มทักแชทนั้นใกล้ตัวแล้ว ยังมีความ “ใกล้ชิด” ที่เราเองก็พิจารณา
มูลค่าของ ยอด Likes นั้น มีแต่จะลดน้อยลงเรื่อยๆ คนกดไลก์ก็ไม่ได้แปลว่าจะเห็นโพสต์ แต่ในทางกลับกัน หากมีคนกดทักแชท เรายังสามารถพูดคุยสานสัมพันธ์กันต่อได้
การสานสัมพันธ์นี้ไม่ใช่เพียงเฉพาะรูปแบบคุยแบบหนึ่ง-ต่อ-หนึ่งเท่านั้น แต่ยังสามารถ Broadcast ส่งข่าวสารหาทุกคนในจำนวนมากได้ (เช่นเดียวกับ LINE for Business) โดยมีต้นทุนที่ไม่แพง เพียงแค่เราเชื่อมต่อเพจของเราเข้ากับ Chatbot Platform ที่สามารถผูกกับ Facebook ได้ เราก็สามารถ Broadcast Messages ได้แล้วง่ายๆ
นั่นทำให้ต้นปี 2018 เราเลือกใช้ Facebook Messenger เป็นอีกช่องทางในการสร้างฐานผู้ติดตาม เพิ่มเติมขึ้นจาก Email Subscription ที่เราใช้มาตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งในปี 2016
เมื่อ Facebook Messenger เปลี่ยน Policy เข้าให้
อันที่จริงแล้ว เชื่อไหมว่าหลายๆ คนใช้ Chatbot Platform เหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อสร้าง Bot อะไรหวือหวา แต่ใช้ฟีเจอร์พื้นฐานอย่าง Broadcast เพื่อส่งข้อความหรือคอนเทนต์หาคนที่เคยแชทกับเรา หรือติดตามเราบน Messenger
ที่ผ่านมา Facebook เปิดช่องว่างให้ Third-party Chatbot สามารถทำมาหากินบน Facebook Messenger ได้ง่ายๆ เราเองก็เป็นหนึ่งในคนในเสียเงินให้ ManyChat (ซอฟต์แวร์แชทบอทรายหนึ่ง) เพื่อใช้ฟีเจอร์อย่าง Broadcast รวมไปถึง Automation พื้นฐาน
เมื่อเวลาผ่านไป..แน่นอนว่า Facebook คงเห็นช่องว่างตรงนี้ ถ้าใครๆ ก็สามารถส่งข้อความหาผู้ใช้ Messenger ได้อย่างง่ายดาย แล้วใครจะมาลงโฆษณากับ Facebook ล่ะ? ปกติการส่งคอนเทนต์หาคนที่เคยปฏิสัมพันธ์กับเรา ต้องมีการทำ Custom Audience และทำ Facebook Retargeting Ads แต่ที่ผ่านมานี่เราสามารถส่งคอนเทนต์หาคนใน Messenger กับเราได้ ไม่เห็นจะต้องลงโฆษณาเลย
แน่นอนว่านี่คือช่องว่างที่ Facebook มองเห็น
จนกระทั่ง Facebook ได้มีการประกาศเปลี่ยน Policy (เริ่มต้นใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 4 มีนาคม เป็นต้นไป) ซึ่งคุณสามารถอ่านประกาศเต็มๆ ได้ในลิงก์ที่ให้ไว้ แต่ถ้าให้สรุปแบบสั้นๆ ก็คือ เราจะเอะอะ Broadcast หรือส่งข้อความตามใจชอบหาทุกๆ คนใน Messenger ไม่ได้แล้ว ยกเว้นว่าจะซื้อโฆษณาแบบ Sponsored Message
ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้างว่าเคสไหนบ้างที่คุณยังสามารถส่งข้อความได้โดยไม่เสียเงิน เช่น คุณสามารถส่งข้อความหาได้เฉพาะคนที่เพิ่งแชทคุยกับคุณแบบสดๆ ร้อนๆ ไม่เกิน 24 ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนั้นไปต้องเสียเงิน หรือ Special case บางกรณีเช่น เพจของคุณต้องเป็น News page ที่สมัครกับ Facebook แล้วเรียบร้อยเท่านั้น (ซึ่งในไทยยังไม่มีเปิดให้สมัคร) เป็นต้น
เอาเป็นว่าในเคสของการที่เป็นธุรกิจนึงที่อยากส่งจดหมายข่าวทาง Messenger หาทุกคนนั้น เราจำเป็นต้องกลับมาพึ่งพิงโฆษณาอีกครั้ง
ต้นทุนในการส่งหาคนที่ติดตามเรา จะยิ่งมีแต่ราคาแพงขึ้น
จากความเปลี่ยนแปลงนี้ ถ้าจะให้ลงความเห็นเกี่ยวกับปี 2019-2020 ก็ต้องบอกว่าเป็นปีที่เราเห็นเทรนด์การ Broadcast หาผู้ติดตาม มีทิศทางที่จะมีราคาแพงขึ้น
เริ่มต้นจาก LINE@ เปลี่ยนสู่ LINE for Business พร้อมอัปเดตราคาใหม่ ซึ่งผู้ใช้ลงความเห็นกันว่า..แพงขึ้น ส่วน Facebook เองก็เห็นช่องวางตรงนี้และกระโจนตามเข้ามาเช่นกัน
แม้แนวโน้มราคาจะสูงขึ้น แต่เบื้องต้นน่าจะยังแพงขึ้นไม่มาก เช่น เคสของพวกเราซึ่งมี Messenger Subscribers ที่ 1,600 คน หากคิดในเชิง CPM (Cost per Impression) แล้ว การส่ง Ads หาคนกลุ่มเล็กเท่านี้ให้เกิดการรับรู้ น่าจะเสียค่าใช้เพิ่มเพียงแค่หลักร้อยบาทเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Cost per Impression คงจะไม่ได้แพงอะไร แต่ด้วยความที่มันถูกนำเสนอในรูปแบบของ Ad โฆษณา ซึ่งดูไม่ได้มีความสัมพันธ์ของการเป็นเพจที่คนๆ นั้นสนใจติดตาม เราเช่ือว่าอัตราการคลิกก็คงต่ำกว่าการส่งในรูปแบบ Subscription แน่นอน
เราควรปรับตัวอย่างไร
หากในขณะนี้คุณใช้ Facebook Messenger ในการสร้างฐานผู้ติดตามอยู่เหมือนกัน วิธีการปรับตัวสามารถมองได้ 2 วิธีคือ
1. ปรับแก้ไขการใช้ Messenger ให้เข้ากับ Policy
นั่นคือยังคงใช้ Facebook Messenger เหมือนเดิม แต่ปรับตัวเองให้เข้ากับ Policy ที่เปลี่ยนแปลง
สำหรับวิธีการว่าปรับอย่างไรนั้น ในส่วนนี้จะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เราขอแนะนำให้คุณศึกษาจาก Resources ของแชทบอทซอฟต์แวร์ที่คุณใช้บริการอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ManyChat มีบทความสอนเรื่องนี้ ชื่อว่า Guide to Messenger’s Policy Changes
โดยส่วนตัวคิดว่าของ ManyChat เขียนเอาไว้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว และ Chatbot Platform ที่คุณใช้บริการอยู่ น่าจะมีทำคอนเทนต์ หรือ Resource ออกมา เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมคุณในเรื่องนี้อยู่แล้วด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดมากนะคะ ศึกษาจากเจ้าที่คุณใช้บริการอยู่ได้เลยค่ะ
2. ปรับกลยุทธ์ หรือ Use Case
หมายถึงการใช้ Facebook Messenger ให้น้อยลง ซึ่งสำหรับที่ Content Shifu เองเราตั้งใจจะเลือกวิธีนี้ เหตุผลเพราะ…
- เราต้องการสานสัมพันธ์กับคนที่สนใจติดตามเราในรูปแบบ Subscriber การที่เราสามารถ “เข้าถึงได้” แต่เข้าถึงแบบ Ads นั้น เป็นการสูญเสียความสัมพันธ์ในส่วนนี้ไป
- เป็นเหตุผลในเชิง Performance และ Use Case จริง โดยเปรียบเทียบกับอีกช่องทางของพวกเราซึ่งคือ Email Marketing ซึ่งจะเล่าในหัวข้อถัดไป
รีวิว ผลลัพธ์การใช้ Facebook Messenger
สำหรับการรีวิวในครั้งนี้ จะขอเล่าสู่กันฟัง ทั้งประเด็นในเชิง Performance และประเด็นในเชิงการใช้งานของลูกค้า
1. ประสิทธิภาพในการสร้างยอดผู้ติดตาม
กลยุทธ์ Lead Generation หรือ Subscriber Generation ที่พวกเราทำ คือการสร้าง Premium content เช่น E-books หรือไฟล์ Presentations ให้คุณได้ดาวน์โหลดฟรีๆ ผู้สนใจสามารถเลือกดาวน์โหลดช่องทางใดก็ได้ระหว่าง Messenger และ Email
คุณคิดว่าระหว่าง Messenger และ Email นี้ คนนิยมดาวน์โหลดผ่านช่องทางไหนมากกว่ากัน?
เดิมทีพวกเราคิดว่าน่าจะไม่แตกต่างมาก หรือเผลอๆ ยอดบน Facebook Messenger น่าจะสูงกว่า (เพราะคนน่าจะคุ้นเคยเหมือนกับปุ่ม Facebook Login)
แต่พวกเรากลับพบสถิติที่ผิดจากที่คิดไว้ตอนแรกเป็นอย่างมาก โดยเราพบว่ายอดดาวน์โหลดผ่าน Email สูงกว่ายอดดาวน์โหลดผ่าน Messenger เสมอ ในทุกๆ Presentation และ E-book ถึงแม้ว่าจะเป็น E-book ที่มีเนื้อหาที่มีความเฟสบุ๊กมากๆ อย่าง เทมเพลตขนาดรูป Facebook พร้อมใช้ได้จริง ยอดดาวน์โหลดผ่านอีเมลก็ยังสูงกว่ามากอยู่ดี
ที่น่าตกใจคือความแตกต่างนั้นไม่ใช่ในระดับสูสี แต่เป็นในระดับที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยยอดโหลดผ่านอีเมลนั้นสูงกว่ายอดโหลดผ่าน Messenger มากถึง 230% – 420% (ตามแต่ประเภทของหัวข้อ)
2. Open rate & Click rate
Facebook Messenger ยังมีจุดที่เหนือกว่า Email อยู่ซึ่งก็คือ Engagement ซึ่งในที่นี้หมายถึงอัตราการเปิดอ่าน (Open rate) และอัตราการคลิกเข้าไปอ่านต่อ (Click rate)
โดยปัจจุบัน Open rate และ Click rate บน Facebook Messenger นั้นสูงกว่า Email ประมาณ 400-500% อย่างไรก็ตามปริมาณ Email Contacts ของเรามากกว่า Messenger ค่อนข้างมาก
หากจะเทียบกันอย่างเหมาะสม คือเทียบกันโดยอ้างอิงปริมาณ Contacts ที่สูสีกันโดยย้อนดู Performance ของ Email ในอดีต จะพบว่า Engagement ของ Messenger สูงกว่า Email ประมาณ 150% – 270%
3. Case การใช้งานของลูกค้า
ที่ผ่านมาเราพยายามที่จะให้ Facebook Messenger เป็นหนึ่งในช่องทางการติดตาม อย่างไรก็ตามเมื่อมาพิจารณาดูจากรายชื่อที่ติดต่อเราเข้ามา จะพบเหตุผลของการติดต่อเข้ามาทาง Messenger หลากหลายเหตุผลตั้งแต่…
- ต้องการสอบถามเรื่องเกี่ยวกับความรู้ที่เขาสงสัย
- ไม่เคยเป็นลูกค้า ต้องการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการ (Pre-Sales Opportunities)
- เป็นลูกค้าที่เคยซื้อมาแล้วและต้องการสอบถามเพิ่มเติม (Post-Sales)
- ติดต่อด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น เชิญสื่อ
- ไม่ได้ต้องการสอบถามอะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่ต้องการดาวน์โหลดคอนเทนต์ หรือติดตามข่าวสาร
สรุปได้ว่าผู้ที่ติดต่อเราผ่าน Messenger นั้นค่อนข้างหลากหลาย หลายๆ คนสนใจติดต่อ แต่ไม่ได้สนใจติดตาม ทำให้เลข Subscribers ที่มีใน Facebook Messenger ดูจะสูงกว่าความเป็นจริง เมื่อเทียบกับ Willingness ของคนที่สนใจจะติดตามจริงๆ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจาก Performance ที่ผ่านมา แม้จะมี Click rate ที่สูงกว่า แต่สร้างฐานผู้ติดตามได้น้อยกว่า รวมถึงพฤติกรรมการใช้งานจริงที่มีคนทัก Messenger โดยที่ไม่เกี่ยวกับความสนใจติดตาม และ Policy Change ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พวกเราจึงได้ข้อสรุปว่ารูปแบบการ Subscription ติดตามข่าวสารน่าจะไม่เหมาะที่จะใช้ผ่านช่องทางนี้
อนาคตจะเป็นอย่างไร
เทรนด์เกี่ยวกับการสร้างผู้ติดตามจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยส่วนตัวแล้วเรามองเห็น 3 เรื่องดังนี้
1. การเป็นเจ้าของข้อมูล มีความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในยุคที่ Facebook ลด Reach และการลงโฆษณาจะมีแต่แพงขึ้น การสร้างผู้ติดตามจะยังคงเป็นเทรนด์ระยะยาวที่ธุรกิจควรทำ คุณควรเลือกช่องทางการติดตามที่บาลานซ์ระหว่างแนวคิดสองเรื่องคือ
- ปริมาณผู้ติดตาม: ในบางธุรกิจ LINE หรือ Messenger อาจสามารถช่วยให้มีผู้ติดตามได้มากมาย
- การเป็นเจ้าของข้อมูล: อย่างไรก็ตามจากข้อที่แล้ว เราควรระวังที่จะพึ่งพิงช่องทางใดช่องทางหนึ่งมากจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราไม่ใช่เจ้าของช่องทางนั้นๆ และมีโอกาสเจอสถานการณ์ Policy change
2. Old is the New New
จากประเด็นเรื่องที่ว่า “เราควรเป็นเจ้าของข้อมูล” นำมาซึ่งข้อสรุปนึงคือ Old is the new new ของที่ดูเก่าๆ วิธีที่ดูเก่า อาจกลับมาใหม่และใช้งานได้ดีอีกครั้ง
ช่องทางที่ดูโบราณอย่าง Email เราก็ยังใช้งานมันได้ดีอยู่
และนอกจาก Email แล้ว เราคิดว่าการใช้ SMS ก็น่าจะกลับมาอีกครั้ง
สิ่งที่ทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นไปอีก ก็คือการที่ Manychat (แพลตฟอร์ม Chatbot ที่เราใช้) ก็ดูจะ “ปรับตัว” ให้ตัวเองไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตเพียงคำว่า “Chat” อีกต่อไป แต่หันมาพัฒนาให้รองรับการส่ง SMS และ Email ด้วย
ทั้งๆ ที่ SMS และ Email ก็มีคนทำมามากมายอยู่แล้ว แล้วทำไมเขายังต้องทำอีกล่ะ?
คำตอบคือช่องทางก็คือช่องทางน่ะแหละ ใครใคร่สะดวกช่องทางไหนก็แล้วแต่ แต่สุดท้าย Core สำคัญคือการบริหารจัดการการพูดคุยกับลูกค้า ในส่วนของ Manychat เอง จุดเด่นที่เขาพยายามพัฒนาก็คือในเรื่องการทำ Automation เพื่อให้สามารถทำการตลาดแบบอัตโนมัติได้ดียิ่งขึ้น
3. บริหารระหว่าง Marketing, Sales และ Services แยกให้ชัดเจน
เปลี่ยนแนวคิดจาก “คิดแบบ Channel” เป็น “คิดแบบ Solutions” มากขึ้น
สมัยที่คิดแบบ Channel ก็คือคิดว่า “คนใช้ LINE” “คนใช้ Facebook” เราก็เปิดช่องทางที่นั่น แต่แล้วคนที่เข้ามาก็ทักเข้ามาด้วยสารพัดเรื่อง
จากที่อยากให้ลูกค้าแชทเข้ามาหาได้สะดวกๆ แต่พอทำจริงก็รู้สึกว่ายังไม่สามารถดูแลลูกค้าหรือคนที่ทักเข้ามาด้วยประเด็นที่แตกต่างกันได้ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ
จากจุดนี้เลยมองว่า น่าจะดีกว่าถ้าเราแยกประเด็นการ Engage กับลูกค้าให้เป็นสัดส่วนชัดเจนไปเลย
เพราะ Engagement นั้นมีได้หลายแบบ ตั้งแต่…
Marketing : เป้าหมายคือทำการตลาด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสนใจในสินค้า/บริการ
Sales : เป้าหมายคือช่วยให้ว่าที่ลูกค้า ได้รับทราบข้อมูลของบริการ และดำเนินการตามขั้นตอนการขายได้อย่างสะดวก
Service : เป้าหมายคือการได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า รองรับการถาม-ตอบ และเข้าถึงบริการหลังการขาย
ในเคสของ Content Shifu
Marketing – เราเน้นใช้ Inbound Marketing และสร้างผู้ติดตาม (โฟกัสที่อีเมล)
Sales – ช่องทางที่เรารองรับ ได้แก่ อีเมล (แบบ 1 ต่อ 1) และโทรศัพท์ ซึ่งค่อนข้างเพียงพอแล้วสำหรับรูปแบบสินค้า/บริการของเรา
Services – ช่องทางที่เรารองรับ ได้แก่ อีเมล Facebook Group และ Forum ของผู้เรียน และมองว่าจะมีช่องทางเพิ่มเติมอีกในอนาคต
สรุป
Key takeaway ขั้นต้นของบทความนี้ คืออยากให้ผู้อ่านทราบถึงการปรับเปลี่ยน Policy ในการใช้ Facebook Messenger เพื่อการส่งข้อความ ซึ่งกำลังจะเริ่มใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 4 มีนาคม 2020 นี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องดีสำหรับผู้ติดตามรับข่าวสาร เนื่องจากมีการกำกับดูแลมากขึ้น ข้อความที่คุณได้ก็มีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพมากขึ้น แต่สำหรับฝั่งคนทำเพจ ก็จะมีขั้นตอนและรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มต้องเสียเงินโฆษณาเพื่อส่งข้อความ
เพิ่มเติมนอกจากเรื่องแจ้งข่าว ผู้เขียนได้นำเสนอรีวิวผลการใช้งานและแนวคิดเพิ่มเติมสอดแทรกลงไปด้วย ทั้งนี้สุดท้ายแล้ว ช่องทางที่ดีที่สุดก็คือช่องทางที่เหมาะสมกับธุรกิจและผู้ติดตามของคุณ ลองนำไปพิจารณาและปรับใช้ตามความเหมาะสมนะคะ
ตาคุณแล้ว
คุณได้เริ่มต้นสร้างผู้ติดตามบ้างแล้วหรือยังคะ
คุณใช้ช่องทางอะไร แล้วได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้าง
บทความนี้เป็นมุมมองของอรและ Content Shifu แต่ถ้าคุณมีประสบการณ์ที่เหมือนหรือต่างกันกับเรา สามารถคอมเมนต์เขามาแชร์ความคิดเห็นกันได้เลยนะคะ 🙂