เทคโนโลยีทางการตลาด หรือเรียกอีกอย่างนึงว่า Marketing Technology (MarTech) คืออีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากที่สุดอีกวงการนึง

บทความนี้เป็นบทความต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว ที่เคยเขียนอธิบายว่า Marketing Technology คืออะไรและมีกี่ประเภท สำหรับบทความนี้จะขอยกตัวอย่างฟีเจอร์และความสามารถใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาให้เห็นภาพกันมากขึ้น (** แน่นอนว่าสิ่งสำคัญไม่แพ้เครื่องมือและฟีเจอร์ คือ “วิธีคิด” ซึ่งเราจะนำเสนอในคอนเทนต์ตอนต่อไป)

Disclosure (คุยกันก่อน)

  • MarTech นั้นกว้างใหญ่มากและมีสิ่งที่พูดถึงได้มากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลิสต์ในบทความนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเนื้อหาในงาน Adobe Summit เป็นหลัก เนื่องจาก ณ ขณะที่เขียนบทความนี้ ผู้เขียนได้เดินทางมาดูงานที่นี่ (เครดิตรูปภาพจาก Adobe's Media Kit)
  • ฟีเจอร์ที่คัดมา 6 อย่างนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น (โดยเน้นฟีเจอร์ที่อธิบายให้เห็นภาพได้ง่าย) ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่น่าติดตาม ถ้าคุณมีความคิดเห็นหรืออยากพูดคุยเรื่องไหนกับเราเป็นพิเศษ เรายินดีหาคำตอบให้เพิ่มเติมค่ะ

Adobe Summit marketing experience cloud

Update ตัวอย่างเทคโนโลยีทางการตลาดและเครื่องมือที่น่าสนใจ

1. Goal Tracking & Action Suggestion

ทำการตลาดที่ดี ต้องมีการ Track เป้าหมาย

ซอฟต์แวร์ที่ดีนั้นจะช่วย Track เป้าหมายให้คุณ

แต่ซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ที่ก้าวไกลกว่านั้น นอกจากจะเก็บตัวเลขให้คุณแล้ว ยัง “เสนอทางออก” เมื่อคุณเจอปัญหาด้วย

เครื่องมือติดตามเป้าหมายทางการตลาด

จากภาพด้านซ้าย สมมติว่าคุณเป็นนักการตลาดที่ต้องโปรโมตให้มีคนสมัครเข้ามารับชมสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ของคุณ

…ซอฟแวร์ได้มีการแจ้งเตือนให้คุณว่า “คุณเหลือเวลาอีก 3 วัน ซึ่งคุณน่าจะทำยอดได้ไม่ถึงเป้าหมาย” จากภาพด้านขวา เมื่อคุณคลิกต่อ โปรแกรมได้เสนอทางออกให้กับคุณ (ในที่นี้คือการเสนอให้คุณลง Ads เพิ่มเติมผ่านโปรแกรม Ads Cloud ส่งหารายชื่อ 1,575 รายชื่อที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน)

และเมื่อคุณคลิกไปต่อ โปรแกรมตัวนี้จะเสนอลงมือ Take Action นี้ให้คุณ (ทั้งนี้เนื่องจากเคยทำผ่านโปรแกรมมาก่อนแล้วจึงทราบว่าต้องทำยังไง)

นี่คือตัวอย่างของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วย ‘ติดตาม' ‘เสนอทางออก' และ ‘ลงมือ' ทำให้กับคุณ

หมายเหตุ: ตัวอย่างนี้เป็น Demo จาก Marketo แพลตฟอร์มด้าน B2B Marketing Automation ซึ่ง Adobe ได้ซื้อกิจการไป

2. ขายของ Online และ In-Store คล่องกว่าเดิมด้วย AR

เราได้ยินเทรนด์ของ AR (Augmented Reality) กันมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังเห็น Use Cases ที่น่าสนใจกับธุรกิจไม่เยอะมากนัก ล่าสุดมี Use Cases สองเคสที่น่าสนใจมาฝาก

AR การตลาด การขาย

…ภาพแรกเป็น Use Case เป็นภาพที่พนักงานสาธิตการเพิ่มประสบการณ์ในการซื้อของออนไลน์ โดยการนำ AR เข้ามาใช้ เพียงคุณฉายกล้องของคุณไปบนพื้นที่ในบ้าน ดูที่จอของคุณจะเสมือนกับมีสินค้านั้นๆ (เช่น รองเท้า) ปรากฏอยู่บนภาพ ซึ่งการเห็นภาพแบบ 3D น่าจะช่วยให้คุณตัดสินใจซื้อออนไลน์ได้ง่ายขึ้น นี่เป็นตัวอย่างที่เคยเห็นมาหลายปี

…อีกตัวอย่างนี้น่าสนใจ

สมมติว่าคุณยังไม่พร้อมที่จะซื้อออนไลน์และอยากไปดูที่ร้านมากกว่า คุณเซฟสินค้าที่คุณสนใจไว้ในบัญชีของคุณ

เมื่อไปถึงที่ร้าน คุณสามารถหยิบกล้องมือถือของคุณ เปิดแอปของร้านค้าขึ้นมา แล้วชี้กล้องไปที่ Shelf สินค้า หน้าจอจะบอกให้คุณทราบว่าของใน shelf นั้นมีของไหนบ้างที่คุณเซฟเอาไว้บนออนไลน์ (ในภาพด้านขวาจะเห็นว่ามีเครื่องหมายติ๊กถูกที่สินค้า เป็นการสาธิตการแสดงผลว่า User เคยเซฟสินค้าเหล่านี้)

ฟีเจอร์นี้จะช่วยให้เรามองหาสินค้าจริงที่ร้านด้วยตัวเองได้ง่ายๆ และไม่ต้องรอพนักงานอีกต่อไป เพราะเชื่อมต่อกับระบบคลังสินค้าให้คุณเช็กได้เลยว่ามีไซส์ที่คุณต้องการหรือเปล่า(เทียบกับปัจจุบันที่คุณมักจะต้องรอพนักงานเดินไปเช็กสต๊อกให้คุณ)

ตัวอย่างสองอย่างนี้มาจากฟีเจอร์ล่าสุดของเว็บอีคอมเมิร์สที่พัฒนาด้วย Magento

3. AI เพื่อช่วยลดงานซ้ำซ้อนของการทำครีเอทีฟ

AI เป็นศัพท์ที่บริษัทเทคโนโลยีทุกรายเป็นต้องพัฒนา ไม่เว้นแม้แต่ Adobe ซึ่งมี Products หลักเป็น Products ด้านงานครีเอทีฟ อย่างโปรแกรมตัดต่อรูป / วิดีโอ
ความจริงที่ถูกค้นพบก็คือ ทุกวันนี้ครีเอทีฟเสียเวลาไปกับการทำงานที่ซ้ำซากเยอะมาก ตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่น การปรับไซส์รูปให้เหมาะสมตามแพลตฟอร์มหรือการแสดงผลต่างๆ (เช่น เวลาจะโพสต์รูปภาพบน Facebook ก็ต้องมาคอยเช็กขนาดรูป Facebook ว่ารองรับขนาดเท่าไร) หรือถ้าเป็นวิดีโอก็จะเสียเวลาเพิ่มขึ้นในการต้องครอปวิดีโอให้ได้สัดส่วน
smart crop image video adobe ai creative cloud
จึงได้มีการพัฒนา AI ที่ช่วยทำงานในลักษณะนี้ เพื่อให้ครีเอทีฟได้โฟกัสกับงานครีเอทีฟจริงๆ และฟีเจอร์นี้มีการใช้จริงแล้วบน Adobe Creative Cloud

4. Account-based Marketing

มาถึงเคสของ B2B กันบ้าง ล่าสุด Adobe มีการ Partnership ในหลายด้านมากๆ กับ Microsoft รวมถึงการเชื่อมต่อ LinkedIn ซึ่งช่วยให้นักการตลาดบน Marketo สามารถเข้าถึงข้อมูลของ LinkedIn ได้บนแพลตฟอร์มของ Marketo เอง

ยกตัวอย่างเช่น… คุณกำลังมองหา Account บริษัทลูกค้ารายใหม่ที่จะเข้าไปทำการตลาด คุณสามารถให้ Marketo ลิสต์รายชื่อบริษัทจากทั่วโลก Filter ตาม Criteria ต่างๆ ได้ เช่น ขนาดบริษัท อุตสาหกรรม

จากนั้นก็ค้นหาต่อว่า มีใครทำงานในบริษัทนี้บ้าง เมื่อคุณพบ User ที่คุณสนใจ คุณสามารถยิง LinkedIn Ads ส่งหาบุคคลนี้ได้ เป็นต้น

account based marketing marketo

เทคนิคเช่นนี้เราเรียกกันว่า Account-based Marketing (ซึ่งใช้ได้แล้วในหลายซอฟต์แวร์ ไม่จำกัดเฉพาะรายชื่อที่ได้กล่าวไป)

5. E-Commerce Store Image Search

เราอาจคุ้นเคยฟีเจอร์ Image Search บน Google อยู่แล้ว

แต่นอกจากแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Google ก็มีน้อยรายมากที่มีบริการดังกล่าว โดยเฉพาะเว็บ E-Commerce ส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงต้องใช้การพิมพ์ค้นหาอยู่

เทคโนโลยี image search ecommerce store

ปัจจุบันแพลตฟอร์ม E-Commerce อย่าง Magento ได้ออกบริการ Image search ซึ่งช่วยให้ลูกค้าของร้านค้าออนไลน์สามารถ่ายรูปสินค้าที่ตัวเองสนใจ แล้วกดค้นหาสินค้าจากรูปภาพดังกล่าวได้ ระบบจะเลือกสินค้าที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับสินค้าที่ถ่ายรูปมาให้ เพิ่มความสะดวกไปอีกระดับ

6. Unified Advertising Platform

TV ads on unified advertising platform

จะดีแค่ไหนถ้านักการตลาดสามารถบริหารจัดการโฆษณาต่างๆ ได้บนแพลตฟอร์มเดียว

สำหรับ Facebook Ads และ Google Ads ปัจจุบันนี้มีโซลูชันส์ที่ครอบคลุมสองช่องทางดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ที่น่าทึ่งคือการเชื่อมต่อที่ครอบคลุมไปถึงโฆษณาบนสื่อ OTT ด้วย เช่น การที่ Adobe พาร์ทเนอร์กับ Roku ซึ่งเป็นบริการสตรีมทีวี หรือ Pandora ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเสียง Audio ทำให้นักการตลาดสามารถบริหารจัดการแคมเปญโฆษณาที่หลากหลายช่องทางได้ในแพลตฟอร์มเดียว

หมายเหตุ: บนรูปภาพเขียนว่าทีวีและวิทยุ ซึ่งเป็นการเขียนเกินจริงเล็กน้อยค่ะ หลักๆ แล้วตอนนี้ครอบคลุมบริการสตรีมบนเน็ต แต่นี่ก็ถือว่าเป็น Movement ที่น่าสนใจมากเช่นกันค่ะ

7. Chatbot

ตัวอย่างความสามารถของแชทบอท เช่น การเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ (NLP) การวางระบบ Automation

หากใครสนใจเรื่องนี้ เราเคยเขียนบทความ AI Chatbot ต่างหากไว้อีกบทความ ลองเข้าไปดูเพิ่มเติมได้นะคะ

สรุป

จากตัวอย่างเบื้องต้นเหล่านี้ เราจะมองเห็นได้ว่าเทคโนโลยีทางการตลาดและการขายนั้นส่วนใหญ่แล้วมีการประยุกต์ใช้ในลักษณะดังต่อไปนี้

  1. AI เพื่อการลดงานที่ซ้ำซาก หรือเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจ
  2. Ecosystem & Integration การเชื่อมต่อโปรแกรมต่างๆ ให้เป็นระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์
  3. ฟีเจอร์ใดๆ ก็ตามเพื่อเพิ่ม Customer experience ให้ดีขึ้น

ที่บอกว่าวงการนี้ยังไปได้ไกลอีกมาก ก็เพราะว่าเพียงแค่คอนเซปต์ 3 ข้อดังกล่าว ก็สามารถสร้างสรรค์ฟีเจอร์ได้มากมายไม่รู้จบแล้วค่ะ

ตาคุณแล้ว

แล้วคุณล่ะคะ ตื่นเต้นกับอะไรใหม่ๆ ของวงการเทคโนโลยีทางการตลาด/การขาย เหมือนอย่างพวกเราหรือเปล่า หากมีความคิดเห็นหรือเรื่องที่อยากแชร์เพิ่มเติม พูดคุยกับพวกเรา Content Shifu ได้เสมอนะคะ