ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมักมีจุดแข็งที่ไม่ซ้ำใคร และไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ บางครั้งการเข้าใจแค่ภาพกว้างของธุรกิจอาจไม่พอ แต่ต้องวิเคราะห์เพื่อสร้างจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์และไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ถึงจะทำให้ธุรกิจได้เปรียบในการแข่งขันบนตลาดยุคนี้

วันนี้เราจึงจะพามารู้จักกับ ‘VRIO Framework’ เครื่องมือที่จะช่วยให้เราเข้าใจ และมองเห็นว่าธุรกิจมีข้อได้เปรียบ หรือเอกลักษณ์อะไรบ้างที่คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เพื่อช่วยในการวางแผน และปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมตามจุดแข็งของธุรกิจเรา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ จะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ

VRIO Framework คืออะไร 

VRIO Analysis Framework คือ เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ  ที่ถูกพัฒนาโดย Jay B. Barney ศาสตราจารย์ด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์ชาวอเมริกัน สำหรับให้องค์กรหาจุดแข็งและข้อได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว เพื่อนำไปวางกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิเคราะห์จากทรัพยากรภายในองค์กรออกมาเป็นองค์ประกอบ 4 ข้อ ได้แก่ คุณค่า (Value)  ความหายาก (Rarity)  เลียนแบบไม่ได้ (Inimitability) และการจัดการองค์กร (Organization)


Shifu แนะนำ

PESTEL Framework คือ เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมขององค์กร  มี 6 ปัจจัย ได้แก่ การเมืองและสังคม (Political) เศรษฐกิจ (Economic) สังคมและวัฒนธรรม (Socio-Cultural) เทคโนโลยี (Technological) สิ่งแวดล้อม (Environmental) กฎหมาย (Legal) เมื่อองค์กรสามารถระบุปัจจัยได้จะทำให้สามารถกำหนดแผนการล่วงหน้าและแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา ซึ่งสามาถใช้ควบคู่ไปกับ VRIO ที่วิเคราะห์จากปัจจัยภายในองค์กรได้

 

Value (คุณค่า)

ทรัพยากรที่มีอยู่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้าหรือไม่  และสร้างขีดความสามารถให้กับธุรกิจได้แค่ไหน เช่น ในธุรกิจ Software House ทักษะและประสบการณ์ของคนในองค์กร เป็นคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า และทำให้ธุรกิจได้เปรียบทางการแข่งขัน เมื่อหาคุณค่าเจอแล้ว เราจะลงลึกกันต่อที่ ความหายากของทรัพยากร (Rarity)

Rarity (ความหายาก)

ทรัพยากรมีอยู่มากน้อยแค่ไหน และหายากหรือเปล่า สามารถช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบทางการแข่งขันไหม เช่น บริษัท A มีบุคลากรที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ เทคนิคเฉพาะ ในการผลิตสินค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากในอุตสาหกรรมนี้ และเป็นสิ่งที่ยากที่คู่แข่งจะหาได้

Inimitability (เลียนแบบไม่ได้)

ทรัพยากรมีต้นทุนสูงไหม เลียนแบบได้ง่ายหรือเปล่า พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องมีความแตกต่างจากคู่แข่งที่ชัดเจน เลียนแบบได้ยาก เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ เช่น ธุรกิจสื่อการตลาด มีจุดแตกต่างคือ นำเสนอคอนเทนต์ที่เขียนโดย Data Analyst ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรความรู้เฉพาะ คู่แข่งเลียนแบบได้ยาก

Organization (การจัดการองค์กร)

บริษัทหรือองค์กรมีระบบการจัดการที่ดี ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพไหม เช่น บริษัท C มีระบบการจัดการอย่างเป็นระบบโดยเครื่องมือ Martech เข้ามาช่วย

VRIO มีความสำคัญอย่างไรในการทำธุรกิจ

การวิเคราะห์ VRIO ทำให้เรารู้ว่าทรัพยากรที่ธุรกิจมีอยู่ปัจจุบัน สามารถสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจได้ และนำมา ช่วยในการวางแผนกลยุทธ์ พัฒนาจุดแข็ง กลบจุดอ่อนและช่วยในการตัดสินใจในสิ่งต่างๆ อย่างมีข้อมูล

  1. ทำให้ธุรกิจมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากคู่แข่ง

การวิเคราะห์ VRIO Analysis ช่วยให้ธุรกิจทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร รวมถึงประเมินโอกาสและภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น เมื่อธุรกิจเห็นจุดเด่นและจุดด้อยของตัวเองแล้ว นำไปปรับเป็นกลยุทธ์ เพื่อสร้างความแตกต่างและโดดเด่นในตลาดนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. วางแผนกลยุทธ์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การวิเคราะห์ VRIO ช่วยในการวางแผนกลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบและจัดสรรทรัพยากรที่มีคุณค่ากับธุรกิจ เช่น ในธุรกิจร้านอาหาร หลังจากวิเคราะห์แล้วรู้ว่า วัตถุดิบและรสชาติ เป็นสิ่งที่ทำให้แตกต่างจากคู่แข่ง จำเป็นต้องวางแผนทำสัญญากับ Suppiler เพื่อให้เขาส่งวัตถุดิบให้เราคนเดียว ทำให้คู่แข่งไม่สามารถมีวัตถุดิบที่เหมือนเราได้

  1. ช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจ

 VRIO เป็นตัวช่วยให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจด้วยข้อมูลเชิงลึกจากทรัพยากรที่องค์กรมี และจัดลำดับความสำคัญโปรเจกต์ที่สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ เช่น เมื่อวิเคราะห์ออกมาแล้ว เครื่องหมายการค้า (Trademark) เป็นตัวที่ทำให้ได้เปรียบจากคู่แข่ง บริษัทควรให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในหลากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อไม่ให้ถูกลอกเลียนแบบ

แต่ VRIO Analysis Framework ก็มีข้อจำกัด เพราะธุรกิจเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้ความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนกลายเป็นเรื่องยาก โดยส่วนใหญ่ความได้เปรียบอาจอยู่ประมาณ 3-5 ปี และธุรกิจต้องมองหาความได้เปรียบอื่นๆ มาพัฒนาต่อยอด

สำหรับธุรกิจใหม่ หรือธุรกิจขนาดเล็ก อาจมองว่าการใช้ VRIO ยาก นั่นเป็นเพราะคุณอาจจะยังไม่ได้พัฒนาหรือวิเคราะห์ความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความได้เปรียบที่ยั่งยืน นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ Framework อื่นๆ ในการวิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์ได้ 

เปรียบเทียบระหว่าง VRIO Analysis, SWOT Analysis และ PESTEL Analysis

VRIO Framework คือ อะไร

สามารถใช้ VRIO, SWOT และ PESTEL Analysis ร่วมกันได้ โดยอาจจะเริ่มต้นใช้ SWOT วิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจก่อนว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส หรืออุปสรรคอะไรบ้าง จากนั้นใช้ VRIO เพื่อเจาะลึกลงไปในทรัพยากรภายในบริษัทที่คุณมี พร้อมวิเคราะห์ PESTEL เพื่อมองหาโอกาสที่แบรนด์จะคว้าไว้ได้ วิธีการนี้อาจจะทำให้คุณมองเห็นทรัพยากรที่มี (ซึ่งอาจไม่เคยรู้มาก่อน) และกลายเป็น ‘จุดแข็งที่แท้จริงขององค์กรคุณ’

วิธีการวิเคราะห์ด้วย VRIO Framework

 ที่มาของข้อมูล: The Power MBA

VRIO Analysis Framework มีวิธีการวิเคราะห์แบบขั้นบันได โดยไล่วิเคราะห์ทรัพยากรไปทีละองค์ประกอบ เช่น องค์กรมีทรัพยากรเครื่องมือที่ล้ำสมัยที่แรกของไทย ซึ่งประหยัดวัตถุดิบและการใช้แรงงาน เราจะวิเคราะห์ว่าทรัพยากรนี้มีคุณค่าหรือไม่ เมื่อมีคุณค่า (Value) ก็จะไปวิเคราะห์ต่อที่องค์ประกอบสองว่า หายากไหม (Rarity) และไล่ไปเรื่อยๆ ตามตารางแบบขั้นบันได 

โดยแต่ละขั้นบันได จะสรุปขีดความสามารถทางธุรกิจตามนี้ :

  • ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Disadvantage) – ธุรกิจไม่มีคุณค่าที่ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว
  • มีความเท่าเทียมทางการแข่งขัน (Competitive Parity) – ธุรกิจมีคุณค่าแต่หาได้ง่าย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ 
  • มีความได้เปรียบทางการแข่งขันชั่วคราว (Temporary Competitive Advantage) – ธุรกิจมีคุณค่า หายาก แต่สามารถเลียนแบบได้ ก็จะได้เปรียบแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
  • มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ไม่ได้ใช้ (Unused Competitive Advantage) – ธุรกิจมีคุณค่า หายาก เลียนแบบไม่ได้ แต่การจัดการองค์กรยังไม่เป็นระบบ ทำให้ความได้เปรียบที่มีไม่ถูกนำไปใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
  • มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน (Sustainable Competitive Advantage) – ธุรกิจมีองค์ประกอบครบทั้ง 4 คือ มีคุณค่า หายาก เลียนแบบไม่ได้ และมีการจัดการองค์กรที่ดี ทำให้สามารถใช้ประสิทธิภาพของทรัพยากรได้เต็มที่ และขยายขีดความสามารถขององค์กรให้สูงและได้เปรียบกว่าคู่แข่ง

Shifu แนะนำ

การเลือกทรัพยากรในองค์กรมาวิเคราะห์ใน VRIO Framework สามารถเลือกจากความเข้าใจในธุรกิจของตัวเองว่ามีทรัพยากร หรือองค์ประกอบอะไรที่สำคัญต่อธุรกิจบ้าง

 

ตัวอย่างการใช้ VRIO ช่วยวิเคราะห์ความสามารถธุรกิจ

ตัวอย่างการใช้ VRIO ในการทำเว็บไซต์

ตัวอย่างการใช้ VRIO ในการวิเคราะห์ธุรกิจ

ตัวอย่างการใช้ VRIO ในธุรกิจอาหาร

ตัวอย่างการใช้ VRIO ในการวิเคราะห์ธุรกิจ

ตัวอย่างการใช้ VRIO ในธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า

ตัวอย่างการใช้ VRIO ในการวิเคราะห์ธุรกิจ

สรุป

VRIO Framework ทำให้ธุรกิจสามารถวิเคราะห์ความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืนจากทรัพยากรที่มี เสริมสร้างจุดที่บกพร่อง มองเห็นจุดแข็งที่แท้จริงหรือทราบถึงเอกลักษณ์ ที่คู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบคุณได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในระยะยาวและสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกธุรกิจ

ตาคุณแล้ว

อ่านบทความจบแล้ว อย่าลืมนำ VRIO Framework ไปลองใช้กับธุรกิจคุณ เพื่อให้กลายเป็นที่จดจำและใครก็ลอกเลียนแบบคุณไม่ได้ในเร็วๆนี้ ลองวิเคราะห์แล้วเป็นยังไง หรือมีคำถามเพิ่มเติม สามารถคอมเมนต์มาคุยกันได้นะคะ