จากที่เคยเล่น เคยใช้งาน ซอฟต์แวร์มาหลายตัวจากหลายหมวดหมู่ ผมขออนุญาตเอาทั้งความประทับใจและความไม่ชอบในซอฟต์แวร์หลายๆ ตัว มากลั่นเป็นเนื้อหาในบทความนี้นะครับ

บทความนี้ว่าด้วยเรื่องของสิ่งที่นักพัฒนามักจะเข้าใจผิดเวลาสร้างซอฟต์แวร์

ผมเชื่อว่าหลายๆ เรื่องในบทความนี้จะเป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา คือคนที่ลงมือทำ ลงมือสร้าง อาจจะไม่เห็น แต่ผู้ใช้งานที่เห็นและใช้งานมาหลายตัว พบเจอเป็นประจำ เพราะฉะนั้นผมรับรองว่าเนื้อหาในบทความนี้มีประโยชน์ครับ

หลักๆ แล้วบทความนี้เขียนขึ้นมาให้เจ้าของบริษัท/นักพัฒนาซอฟต์แวร์มาอ่าน จะได้ทำซอฟต์แวร์ออกมาได้ตอบโจทย์คนใช้งานมากขึ้น

ทั้งนี้ คนที่เป็นผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ก็เข้ามาอ่านได้เช่นเดียวกัน จะได้สามารถพิจารณาได้มากขึ้นว่าควรจะเลือกซอฟต์แวร์/ไม่เลือกซอฟต์แวร์แบบไหน

ถ้าพร้อมแล้ว ไปอ่านคอนเทนต์กันเลยครับ!

Note: บทความนี้เขียนจากมุมมองของผู้ใช้งาน ถ้ามีคุณที่เป็นคนที่สร้างซอฟต์แวร์มาอ่านแล้ว มีตรงไหนไม่เห็นด้วย หรืออยากพูดคุยกันเพิ่มเติม มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์นะครับ 🙂

อะไรบ้างที่คนสร้างซอฟต์แวร์ (รวมถึงผู้ใช้งาน) มักจะเข้าใจผิด?

ความเข้าใจผิดที่ 1: ยิ่งปล่อยฟีเจอร์ใหม่ออกมาเร็ว เท่าไหร่ ยิ่งดี (The faster, the better)

ความเข้าใจผิดนี้พบได้บ่อยมากในหมู่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ หลายคนเชื่อว่ายิ่งพวกเขาออกฟีเจอร์ใหม่ได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น

ปรับความเข้าใจใหม่: จริงๆ แล้วก็การมีฟีเจอร์หลายๆ อย่างนั้นดี แต่การเพิ่มฟีเจอร์หลายๆ อย่างขึ้นมาบ่อยๆ ในระยะเวลาสั้นๆ นั้นไม่ดี เพราะจะทำให้ผู้ใช้สับสนและเรียนรู้ตามไม่ทันได้

บางครั้งการออกฟีเจอร์ใหม่บ่อยเกินไปอาจทำให้ผู้ใช้สับสนและเรียนรู้ตามไม่ทันได้

หน้า Homepage ของ Clickup ที่บอกว่า One app to replace them all
หน้า Homepage ของ Clickup ที่บอกว่า One app to replace them all

ตัวอย่างเช่น บริษัทของผมใช้งาน Clickup มา 4-5 ปีแล้ว และในช่วงแรกๆ ที่ใช้งาน พวกเขาปล่อยฟีเจอร์ใหม่บ่อยๆ มากๆ (พวกเขาเคยเขียนบล็อกว่าในปี 2018 Clickup ออกฟีเจอร์ใหม่ 278 ฟีเจอร์) ซึ่งเอาจริงๆ ตอนนั้นรู้สึก Overwhelmed มาก คือของเก่ายังใช้ไม่ทันคล่อง มีของใหม่มาอีกแล้ว และมาทุกสัปดาห์เลย จนทำให้ผมกับทีมเกือบจะเลิกใช้ Clickup ไปแล้ว

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือต้องหาจุดสมดุลระหว่างการออกฟีเจอร์ใหม่บ่อยๆ และการทำให้ผู้ใช้สามารถเรียนรู้ฟีเจอร์เหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย ในความเห็นของผม การออกฟีเจอร์ใหม่ (ที่เป็น Major Update) ทำทุกๆ 2-3 เดือนน่ากำลังดี

Ship ฟีเจอร์ใหม่ๆ บ่อยเกินไป ระวังจะ Ship จนลูกค้าหายนะครับ

สำหรับคนใช้งานซอฟต์แวร์: แนะนำว่าให้หาซอฟต์แวร์ที่ค่อนข้าง Mature แล้ว คืออยู่มาสักระยะ มีความนิ่งแล้ว จะดีกว่า ไม่อย่างนั้นถ้าเราปล่อยฟีเจอร์ใหม่ออกมาถี่ๆ คุณและทีมจะต้องเรียนรู้ของใหม่เรื่อยๆ เลย

ทั้งนี้ถ้าซอฟต์แวร์ตัวใหม่นั้นตอบโจทย์กับปัญหาที่คุณมีอยู่จริงๆ การเลือกใช้ก็ไม่ผิดนะ

ความเข้าใจผิดที่ 2: ฟีเจอร์ยิ่งเยอะ ยิ่งดี (The more feature-rich, the better)

การที่ซอฟต์แวร์นั้นๆ มีฟีเจอร์เยอะ อาจจะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึก “ว้าว” ในระยะสั้นๆ แต่พอเข้าไปใช้งานจริง อาจจะพบว่าสิ่งที่มีอยู่มันเยอะและซับซ้อนเกินไป

ปรับความเข้าใจใหม่: ออกฟีเจอร์มาเท่าที่จำเป็น แล้วไปลงทุน ลงแรงกับเรื่องอื่น เช่นการทำฟีเจอร์เดิมให้ดีขึ้น หรือเอาเวลาไปสอนใช้ซอฟต์แวร์ อาจจะทำให้ได้ลูกค้า/ลูกค้าอยากใช้งานต่อมากกว่า

ตัวอย่างที่อยากยกมาให้เห็นในเคสต์นี้คือตัวอย่างจริงของแอป Chat ชื่อว่า Livechat ที่อยู่มาตั้งแต่ปี 2002

ในตอนแรกๆ นั้นพวกเขาใส่ฟีเจอร์เข้ามาเยอะมาก และเพิ่มฟีเจอร์ใหม่เรื่อยๆ เช่น ปุ่ม Chat บนเว็บไซต์, ฟีเจอร์จัดการรายชื่อลูกค้า, เชื่อมต่อกับ ICQ/MSN (มีใครทันไหมนะ 😂) และทำให้ซอฟต์แวร์โทรศัพท์หาลูกค้าได้

Interface ของ Livechat ช่วงปี 2006
Interface ของ Livechat ช่วงปี 2006

ถ้าดูจากรูปทางด้านบนจะเห็นได้ว่า พวกเขามีฟีเจอร์ยุบยับเต็มไปหมด

พอพวกเขารู้ตัวเอง และตัดสินใจรื้อตัวซอฟต์แวร์ให้กลายเป็นเวอร์ชั่นใหม่ ผมปรากฏว่า Livechat เวอร์ชั่นใหม่นั้นทำให้พวกเขาได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 20% ในทุกๆ เดือน และสิ้นปี ลูกค้าที่ใช้เวอร์ชั่นเก่า ตัดสินใจย้ายมาเวอร์ชั่นใหม่ถึง 70%

สำหรับคนใช้งานซอฟต์แวร์: ซอฟต์แวร์ที่ฟีเจอร์เยอะๆ อาจจะดูว้าวตอนที่เห็น แต่ตอนใช้งานจริง คุณอาจจะไม่ได้ใช้มันทั้งหมด

เลือกใช้ตัวที่มีฟีเจอร์ 30 แล้วคุณใช้มัน 20 ดีกว่าเลือกตัวที่มีฟีเจอร์ 100 แล้วคุณใช้มันแค่ 5-10 ครับ หรือต่อให้ใช้ 20 เท่ากัน ก็ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ต้องมาเรียนรู้ อีกอย่าง หน้าตาของตัวที่มีฟีเจอร์เยอะกว่า มีโอกาสที่จะรกมากกว่า (และอาจจะแพงกว่า) ด้วยครับ

ความเข้าใจผิดที่ 3: ยิ่งปรับแต่งได้เยอะ ยิ่งดี (The more customizable, the better)

ยิ่งซอฟต์แวร์สามารถปรับแต่งได้มากเท่าไหร่ มันก็มีโอกาสที่จะตอบโจทย์คนใช้งานมากขึ้นเท่านั้น

ใครอยากได้อะไรเพิ่ม ขอแค่บอกมา เดี๋ยวทำเพิ่มเติมเป็นพิเศษให้

ปรับความเข้าใจใหม่: ในฐานะผู้ใช้งาน ผมไม่ชอบซอฟต์แวร์ที่ Customize ได้เยอะเอามากๆ

ยิ่ง Customize ได้เยอะ แสดงว่าโอกาสที่ซอฟต์แวร์จะถูกปรับแต่งจนห่างไกลกับ Standard ที่ควรจะเป็น ก็จะยิ่งเยอะ สุดท้ายจากของที่เคยสร้างมาดีๆ อาจจะกลายเป็นของที่ไม่ดีหรือใช้งานยากไปในที่สุด

จริงๆ ตัวอย่างที่จะเห็นบ่อยๆ สำหรับเรื่องนี้คือซอฟต์แวร์ที่เป็น Enterprise Solution ที่ปรับแต่งได้ทุกอย่าง (ถ้ามีงบประมาณ)

เอาจริงๆ มันก็เหมือนจะดีนะ ที่สามารถทำตรงตาม Requirement ได้ทุกอย่าง แต่ถ้าลองไปถามผู้ใช้งาน (End User) จริงๆ เขาไม่ชอบหรอกครับ อีกอย่าง ค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ของเวลาของผู้พัฒนาและผู้ใช้งานที่ใช้ไปกับการ Customize Software อาจจะกินเวลาหลักหลายเดือนหรือเป็นหลักปีเลยก็ได้ครับ

สำหรับคนใช้งานซอฟต์แวร์: ในความเห็นของผม คุณควรเลือกซอฟต์แวร์ที่สามารถปรับแต่งได้ในระดับนึง (ไม่ต้องปรับแต่งได้ทุกอย่าง) และหาทางปรับ Flow การทำงานของคุณเข้ากับซอฟต์แวร์นั้นๆ จะง่ายกว่าครับ

การพยายามหาซอฟต์แวร์ที่สามารถปรับแต่งได้ตรงกับความสนใจของคุณทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องยากมากๆ (หรือถ้าทำได้ ราคาก็อาจจะต่างกับซอฟต์แวร์อื่นๆ หลายสิบหรือหลายร้อยเท่าครับ)

นอกจากนั้นแล้ว ถ้าซอฟต์แวร์ที่คุณเล็งๆ อยู่ มันต้องมีการปรับแต่งเพิ่มเยอะ ผมคิดว่าซอฟต์แวร์ตัวนั้นอาจจะไม่ใช่ตัวที่เหมาะกับธุรกิจของคุณก็ได้ครับ

ความเข้าใจผิดที่ 4: ยิ่งทุกคนใช้งานได้มากเท่าไหร่ ยิ่งดี (The bigger (market size), the better)

ยิ่งซอฟต์แวร์ที่คุณทำ มีฐานผู้ใช้งานยิ่งกว้างเท่าไหร่ยิ่งดี ทุกๆ คนในอุตสาหกรรม ไม่ว่าขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ สามารถมาใช้งานซอฟต์แวร์คุณได้หมด

ปรับความเข้าใจใหม่: คำพูดที่ผมพูดประจำคือ “Niche is Bliss, Mass is Bad”

ถ้าคุณพยายามที่จะเป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน สุดท้ายคุณจะไม่ได้เป็นอะไรสำหรับใครเลย

เช่นถ้าคุณทำ Software CRM แบบกลางๆ ขึ้นมา เวลาคุณจะไปแข่งกับ B2B CRM ที่เน้นเรื่อง Sales Productivity กับ Pipeline Management ก็จะแข่งยาก

หรือถ้าคุณทำ Website Builder แบบกลางๆ ขึ้นมา คุณจะต้องไปแข่งกับสิงห์สาราสัตว์ อย่าง WordPress, Wix, Weebly และ Solution อื่นๆ อีกล้านแปด

การโฟกัสสำหรับบางอุตสาหกรรม บางธุรกิจ หรือบาง Use Case ไปเลยอาจจะทำให้คุณแข่งขันได้มากกว่า

หน้า Homepage ของ Pipedrive
หน้า Homepage ของ Pipedrive

ตัวอย่างเช่นบริษัท Pipeline ที่ทำระบบ CRM สำหรับ B2B โดยเฉพาะ มีรายได้เกือบๆ $200 ล้านต่อปี หรือ Veeva Systms ที่เป็น CRM สำหรับธุรกิจสายวิทยาศาสตร์ (เช่นโรงพยาบาลหรือบริษัทยา) ก็ทำรายไปในปี 2023 ไปแล้วกว่า $2,155 ล้านเหรียญ

ถ้าพูดจาภาษา Startup คือ Total Addressable Market (ขนาดของตลาดที่ซอฟต์แวร์ของคุณจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ/แก้ไขปัญหา) นั้นควรจะต้องใหญ่พอ แต่ Niche ที่คุณเลือกก็ควรจะต้องเล็กพอด้วยเช่นกัน

สำหรับคนใช้งานซอฟต์แวร์: ถ้าคุณเลือกเครื่องมือที่บอกว่าทำได้ทุกอย่าง เหมาะกับทุกอุตสาหกรรม ตอนคุณเอามาใช้งานจริง คุณอาจจะพบว่ามัน “ไม่สุด” คือนั่นก็มี นี่ก็มี แต่ไม่ได้ตอบโจทย์สำคัญๆ ของคุณ

การเลือกเอาซอฟต์แวร์เฉพาะทางมาใช้งานเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า


Shifu แนะนำ

ขายของ 2 บรรทัด: ถ้าคุณทำซอฟต์แวร์ที่เป็นสาย Martech แล้วอยากให้คนรู้จักมากขึ้น หรืออยากเก็บรายชื่อ Qualified Leads Content Shifu มี Solutions อยู่ ลองดูได้ที่นี่ครับ

 

ความเข้าใจผิดที่ 5: ยิ่งถูก ยิ่งดี (The cheaper, the better)

ยิ่งราคาถูกได้มากเท่าไหร่ ลูกค้าจะยิ่งมีโอกาสซื้อมากเท่านั้น

ปรับความเข้าใจใหม่: ยิ่งถูก ยิ่งดี ไม่จริงเสมอไป โดยเฉพาะถ้าคุณกำลังขายซอฟต์แวร์ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่

ผมลองเทียบง่ายๆ เพื่อให้เห็นภาพ ถ้าคุณเป็นคนที่รวย เวลาที่คุณซื้อกระเป๋า/นาฬิกา คุณจะซื้อกระเป๋า/นาฬิกาที่ไม่มียี่ห้อ หรือมีราคาถูกไหมครับ?

คำตอบก็คงจะไม่

เช่นเดียวกัน ธุรกิจขนาดใหญ่ มีงบประมาณในการลงทุน และสิ่งที่พวกเขาจะลงทุน นอกจากเรื่องฟีเจอร์ ฟังก์ชั่นแล้ว ความน่าเชื่อถืออาจจะสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำ และราคาที่สูงขึ้น (ที่มาพร้อมกับบริการที่ Dedicated มากขึ้น) นั้นเป็นเหมือนเครื่องการันตีที่สำคัญมากๆ อย่างนึงเลยครับ

พออ่านถึงตรงนี้ ไม่ใช่ว่าคุณจะรีบกลับไปขึ้นราคาซอฟต์แวร์ของคุณนะครับ ผมแนะนำว่าเอาให้มันสมเหตุสมผล อย่าพยายามไปโฟกัสเรื่องการพยายามทำซอฟต์แวร์ออกมาให้มีราคาที่ถูกที่สุด แต่ไปโฟกัสเรื่องการทำซอฟต์แวร์ออกมาให้ตอบโจทย์ดีกว่า

สำหรับคนใช้งานซอฟต์แวร์: ถ้าคุณเลือกเครื่องมือที่ใช้งานได้ฟรีแบบไร้ซึ่งข้อจำกัดใดๆ เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะไม่ใช่ลูกค้า แต่เป็นสินค้าอยู่ (จินตนาการถึง Social Media Platform ต่างๆ ที่คุณใช้งานดูได้ครับ เวลาที่คุณอยู่บน Platform นั้นถูกเอาไปขายโฆษณาที่แบรนด์ต่างๆ จะเข้ามาซื้อเพื่อเข้าถึงคุณ) หรือถ้าเครื่องมือตัวไหนที่มันดูราคาต่ำกว่าจริงไปมากๆ มีโอกาสเหมือนกันที่ คุณอาจจะไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ดีเท่าที่ควร และในระยะกลาง-ยาว เครื่องมือตัวนั้นๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์กับธุรกิจของคุณ

ความเข้าใจผิดที่ 6: คนใช้งานเยอะ ยิ่งดี (The more (users), the better)

ยิ่งมีคนเข้ามาใช้ซอฟต์แวร์เยอะเท่าไหร่ยิ่งดี (เผื่อจะได้ตัวเลขไปตอบนักลงทุนเวลา Raise Fund 😉)

ปรับความเข้าใจใหม่: จำนวนคนใช้งานคือมายา จำนวนคนจ่ายเงินมาคือของจริง คนใช้เยอะ ไม่เท่ากับคนซื้อเยอะ เพราะฉะนั้นอย่าลืมโฟกัสที่การหาคนซื้อด้วย คือมีเวอร์ชั่นฟรีได้ แต่ต้องมี Funnel ในการ Convert คนใช้งานให้เป็นคนซื้อ

หน้า Homepage ของ ActiveCampaign ที่คุณสามารถกรอกอีเมลเพื่อทดลองใช้ฟรี
หน้า Homepage ของ ActiveCampaign ที่คุณสามารถกรอกอีเมลเพื่อทดลองใช้ฟรี

ซอฟต์แวร์หลายๆ ตัวที่ไปได้ดีเช่น ActiveCampaign หรือ Salesforce พวกเขาก็ใช้วิธีการแบบ “ทดลองใช้” คือให้ใช้ฟรี 14-30 วัน เพื่อให้ลูกค้า Get Feeling ของการใช้งาน จากนั้น ถ้าจะใช้งานต่อจริงๆ ก็ต้องจ่ายเงิน

สำหรับคนใช้งานซอฟต์แวร์: ถ้าจะใช้งานซอฟต์แวร์ตัวไหนๆ อย่างจริงจัง แนะนำให้หาตัวที่คุณสามารถจ่ายเงินได้ (หรืออย่างน้อยๆ คุณรู้ว่ามีคนจ่ายเงินเพื่อใช้บริการซอฟต์แวร์เหล่านี้อยู่พอสมควร) เพราะคุณคงจะไม่ Happy นัก ถ้าวันดีคือดี ซอฟต์แวร์ที่คุณใช้งานฟรีอยู่ต้องปิดตัวไป

ความเข้าใจผิดที่ 7: ยิ่งดีกว่า ยิ่งดี (The better, the better)

ของดี ยังไงก็คนอยากใช้ ไม่ต้องพยายามขาย พยายามโฆษณาเยอะ

ปรับความเข้าใจใหม่: การที่ซอฟต์แวร์ของคุณเจ๋งหรือดีกว่าที่ผู้ใช้งานน่าจะคาดหวัง หรือดีกว่าคู่แข่งของคุณนั้นก็เป็นเรื่องดี แต่จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เพราะเรื่องการขายซอฟต์แวร์นั้นก็เหมือนความรักที่คนที่ดีกว่าอาจจะไม่ได้เป็นคนที่ชนะใจคนที่จีบอยู่เสมอไป 😁

ถึงแม้ของคุณดี แต่ถ้าคุณไม่ทำ Branding ไม่ทำ Marketing คนไม่รับรู้ว่ามีคุณอยู่ในตลาด หรือไม่รับรู้ว่าคุณมีของดีอยู่ คนที่น่าจะเป็นลูกค้าของคุณได้ ก็อาจจะกลายไปเป็นลูกค้าของคุณแข่งของคุณ


Shifu แนะนำ

ขายของ 2 บรรทัด: ถ้าคุณทำซอฟต์แวร์ที่เป็นสาย Martech แล้วอยากให้คนรู้จักมากขึ้น หรืออยากเก็บรายชื่อ Qualified Leads Content Shifu มี Solutions อยู่ ลองดูได้ที่นี่ครับ

 

สำหรับคนใช้งานซอฟต์แวร์: ถ้าอยากได้ของดีและตรงกับใจ อาจจะต้องใช้เวลาควานหาเพิ่มเติมนิดนึง จะเริ่มต้นจากการ Google ก็ได้ หรือผมมีแหล่งความรู้ที่ Content Shifu ทำไว้ให้คุณเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้อยู่หลายที่ตามนี้เลยครับ

สรุป

ผมขอสรุปความเข้าใจผิดในการสร้างซอฟต์แวร์ทั้ง 7 ข้ออีกคร้ังนะครับ

ความเข้าใจผิดที่ 1: ยิ่งปล่อยฟีเจอร์ใหม่ออกมาเยอะ & เร็ว เท่าไหร่ ยิ่งดี (The faster, the better)

ความเข้าใจผิดที่ 2: ฟีเจอร์ยิ่งเยอะ ยิ่งดี (The more feature-rich, the better)

ความเข้าใจผิดที่ 3: ยิ่งปรับแต่งได้เยอะ ยิ่งดี (The more customizable, the better)

ความเข้าใจผิดที่ 4: ยิ่งทุกคนใช้งานได้มากเท่าไหร่ ยิ่งดี (The bigger (market size), the better)

ความเข้าใจผิดที่ 5: ยิ่งถูก ยิ่งดี (The cheaper, the better)

ความเข้าใจผิดที่ 6: คนใช้งานเยอะ ยิ่งดี (The more (users), the better)

ความเข้าใจผิดที่ 7: ยิ่งดีกว่า ยิ่งดี (The Better, the better)

ถ้าคุณสนใจเลือกการเลือกซอฟต์แวร์มาใช้ คุณสามารถอ่านบทความนี้เิพิ่มเติมได้ครับ 👉 เลือกผิดชีวิตเปลี่ยน! 7 หลักการในการเลือกซอฟต์แวร์มาใช้ทำงาน

ตาคุณแล้ว

มีความเข้าใจผิดข้อไหนใน 7 ข้อนี้ที่ผมกำลังเข้าใจผิดอยู่รึเปล่า? หรือมีความเข้าใจผิดอื่นๆ ที่อยากแชร์ให้ผมและผู้อ่านคนอื่นๆ ได้อ่านบ้างไหมครับ? มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยครับ!