การที่คุณเข้ามาอ่านบทความนี้นั้นอาจจะเป็นเพราะคุณกำลังไถ Feed Facebook ของคุณอยู่แล้วเห็น Feed ของบทความนี้ผ่านเข้ามาพอดี

หรือคุณอาจจะใช้ Google ค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับการดึง Traffic เข้าเว็บไซต์แล้วเจอบทความนี้ขึ้นอยู่ในหน้าแรกของ Search Engine และคุณเห็นว่ามันน่าสนใจก็เลยคลิกเข้ามาอ่าน

ผมไม่รู้ และไม่แน่ใจว่าคุณเจอบทความนี้ผ่านช่องทางไหนกันแน่

แต่มีสิ่งนึงที่ผมค่อนข้างแน่ใจก็คือคุณไม่เคยเห็นสูตร SSRD มาก่อน สาเหตุก็เป็นเพราะผมพึ่งตั้งสูตรนี้ขึ้นมาเอง (มันไม่ได้เป็นการค้นพบสูตรสำเร็จ แต่ผมแค่ทำให้หัวข้อบทความมันดูน่าสนใจ ตามหลัก วิธีการตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจจนคนต้องกดอ่าน)

ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีใครพูดถึงสูตร SSRD นี้ แต่ผมเชื่อว่าแนวคิดที่อยู่ในบทความนี้น่าจะเป็นแนวคิดที่อาจจะมีหลายคนเขียนถึงแล้ว เพียงแต่ว่าถ่ายทอด หรือวิเคราะห์ออกมาในรูปแบบ หรือบริบทที่ต่างกัน

ในบทความนี้ผมจะมาแนะนำให้คุณรู้จักกับแนวคิดที่ผมได้มาจากการเฝ้าดู และเฝ้ามองสถิติหลังบ้านของ Content Shifu มาตั้งแต่ตอนเริ่มต้น รวมไปถึงการตกผลึกจากการเฝ้าใช้ เฝ้าศึกษา เฝ้าดู เฝ้ามองโลกออนไลน์มาหลายปี

ผมรับรองว่าเมื่อคุณอ่านบทความนี้จบ คุณจะต้องอยากย้อนกลับไปดูแผนการดึงดูด Traffic เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณแน่นอนครับ : )

SSRD: 4 ระดับในการดึง Traffic เข้าเว็บไซต์

S: Social

S ตัวแรก Social นั้นเป็นตัวที่ช่วยสร้าง Traffic มาให้กับคุณได้เร็ว และง่ายที่สุด และทุกคนควรจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ แต่ในความเห็นของผม มันเป็นวิธีการดึง Traffic ระดับขั้นที่ 1 และเป็นตัวเลือกที่คุณควรที่จะพึ่งพาน้อยที่สุดในระยะยาว (อ่านเพิ่มเติม: ทำไมคุณถึงไม่ควรพึ่งแต่ Social Media ในการทำธุรกิจ)

สาเหตุนั้นเป็นเพราะส่วนใหญ่แล้ว Traffic ที่มาจาก Social Media นั้นไม่ได้เกินจากการที่คนมีปัญหา หรือคนต้องการคำตอบอะไรบางอย่าง แต่เป็นการที่คนเลื่อน Feed แล้วบังเอิญมาเห็นคอนเทนต์ของคุณ

อายุเฉลี่ยของ Facebook Post นั้นอยู่ที่ 2 ชั่วโมงครึ่ง, Tweet ของ Twitter อยู่ที่ 18 นาที ซึ่งถ้าคุณพึ่งแต่ Social Media ในการดึง Traffic เข้ามายังเว็บไซต์ คุณจะต้องเหนื่อยขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน เพราะ Reach ของ Social Media นั้นมีแต่จะลดลงเรื่อยๆ (เมื่อคนใช้มากขึ้น Platform เหล่านี้ก็จะใช้อัลกอริทึ่มมาคัดเลือก และจำกัดคอนเทนต์ที่คนจะเห็น)

Social Post มีอายุ 3 ชั่วโมง และจะน้อยลงเรื่อยๆ สุดท้าย ถ้าคุณใช้ Social ดึง Traffic มายังเว็บ คุณต้องทำงานหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะ Reach ของ Social ไม่มีทางเพิ่มขึ้น (ยิ่งคนใช้เยอะขึ้น คอนเทนต์คุณยิ่งถูกจำกัดการเห็น)

ป.ล. ถึงแม้ว่า Social Media จะไม่ได้เหมาะกับการดึง Traffic เข้าไปยังเว็บไซต์ แต่ถ้าเป็นในแง่ Conversion ปิดการขายบน Platform นั้นๆ (Social Commerce บน Facebook หรือ LINE) ผมคิดว่ามันเวิร์คอยู่ครับ โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่คนใช้ Social Media เยอะ

S: Search

S ตัวที่สอง Search หรือ Traffic ที่มาจาก Search Engine อย่าง Google นั่นเอง Traffic ที่มาจาก Search นั้นมี 2 รูปแบบคือ Search Engine Optimization (SEO) หรือ Search Engine Marketing (SEM – Adwords) ซึ่งถ้าเป็น SEO นั้นจะเป็นแบบเห็นผลช้า แต่ยั่งยืน และ SEM จะเป็นแบบเห็นผลทันที ถ้ามีเงินจ่าย

สาเหตุที่ Search นั้นเป็นช่องทางในระดับขั้นที่ 2 นั้นเป็นเพราะว่าการที่คนตั้งใจค้นหาอะไรบางอย่าง แสดงว่าคนมีคำถามที่ต้องการคำตอบอยู่ ซึ่งถ้าคอนเทนต์ที่อยู่บนเว็บไซต์ของคุณสามารถตอบโจทย์คนเหล่านั้นได้ โอกาสที่คนเหล่านั้นจะสนใจคุณก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ถ้าคอนเทนต์ที่คุณผลิตขึ้นมาเป็นคอนเทนต์ที่ไม่เสื่อมค่าตามกาลเวลา (Evergreen Content) Traffic ที่คุณจะได้จาก Search นั้นจะมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

แต่ถึงอย่างนั้น Traffic ที่มาจาก Search นั้นก็ยังคงไม่ถือว่าเป็น Traffic ที่ดีที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วคุณยังคงต้องพึ่ง Platform อย่าง Google อยู่ดี

R: Referral

R คือ Referral หรืออธิบายง่ายๆ คือการที่คนอื่น หรือเว็บไซต์อื่นนั้นเขียนถึง หรืออ้างถึงคุณ ซึ่งสำหรับผมแล้ว ผมยกให้เป็นช่องทางในการสร้าง Traffic เข้าเว็บไซต์ขั้นที่ 3 ต่อจาก Search สาเหตุนั้นเป็นเพราะว่าการที่คนเขียนถึงเว็บไซต์ของคุณ หรือเอาเว็บไซต์ของคุณไปอ้างอิงนั้นเป็นการบ่งบอกว่าเว็บไซต์ของคุณเป็นเว็บไซต์ที่มีความเชี่ยวชาญ (Authority) ในระดับนึง

เช่นเวลาผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่อง SEO ผมก็อาจจะอ้างถึง Moz หรือ Backlinko หรือถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Social Media ผมก็อาจจะอ้างถึง Buffer หรือ Jon Loomer เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว การที่มีเว็บไซต์ หรือคนอ้างอิงถึงเว็บไซต์ของคุณนั้น ยังมีส่วนช่วยในการทำ Off-page SEO ซึ่งส่งผลดีต่อการได้มาซึ่ง Traffic ในรูปแบบ Search ในขั้นที่ 2 ด้วย

แต่ถึงแม้ว่าการที่คุณถูกมองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยเว็บไซต์ หรือแหล่งอื่นๆ นั้นจะเป็นเรื่องที่ดี แต่สุดท้ายแล้วมันก็ยังคงเป็นการพึ่งคนอื่นอยู่ดี

เพราะฉะนั้น เรามาดู D หรือระดับขั้นสุดท้ายของการดึง Traffic เข้ามายังเว็บไซต์กันเลยดีกว่าครับ : )

D: Direct

D คือ Direct ถือเป็นระดับขึ้นที่ 4 ซึ่งในความเห็นผล เป็นขั้นสุดของการดึงดูดคนเข้าเว็บไซต์ (และก็เป็นขั้นที่ทำได้ยากที่สุดเช่นเดียวกัน) ถ้าเว็บไซต์ของคุณมาถึงขั้นนี้ได้นั่นก็หมายความว่าเว็บไซต์ของคุณกลายเป็น “Go to Website” ไปเรียบร้อยแล้ว

เช่นถ้าผมอยากค้นหาข้อมูล หรือถามคำถามผมก็จะเข้าไปยัง Pantip ถ้าหิว อยากดูรีวิวร้านอาหารก็จะเข้าไป Wongnai หรือถ้าผมเป็นเด็กมัธยม แล้วอยากคุยกับเด็กมัธยมคนอื่นๆ ก็จะเข้าไป Dek-d เป็นต้น

Shifu แนะนำ
นอกจากเรื่อง Mindset อย่าง SSRD: 4 ระดับในการดึง Traffic เข้าเว็บไซต์ที่คุณควรจะลองเอากลับไปคิดแล้ว คุณอย่าลืมเข้าไปดู Data ใน Google Analytics อย่างเช่นพวก Bounce Rate, Average Time On Page หรือ Conversion (ที่เป็นยอดขาย) ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม: 7 คำศัพท์พื้นฐานน่ารู้ของ Google Analytics

สรุป

และนี่ก็คือ SSRD: 4 ระดับขั้นของการดึง Traffic เข้ามายังเว็บไซต์นะครับ ถ้าคุณมีเว็บอยู่แล้ว แต่ Traffic ยังไม่เยอะ ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยคุณปรับ Mindset และปูรากฐานในการทำเว็บไซต์ของคุณ หรือถ้าคุณมี Traffic เข้าเว็บไซต์อยู่แล้ว ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณสามารถ Optimize เว็บไซต์ของคุณเพื่อให้มันอยู่อย่างยั่งยืนในระยะยาวนะครับ

“Your Website is your best digital asset in the digital era” ขอให้คุณ คุณ และคุณ ที่สร้างเว็บไซต์ดีๆ และคอนเทนต์โดนๆ มีคนที่ใช่เข้ามาเยอะๆ นะครับ 🙂

ตาคุณแล้ว

ในตอนนี้เว็บไซต์ของ Content Shifu ยังอยู่แค่ระดับขั้นที่ 2 เอง ถ้าพวกเราไปถึงขั้นที่ 4 ได้นี่จะฟินมากๆ เลยล่ะ

เว็บไซต์ของคุณตอนนี้มีคนเข้าเยอะรึเปล่า และถ้ามีคนเข้า เข้ามาจากช่องทางไหนเยอะที่สุด มาแชร์กันได้ในคอมเมนต์นะครับ : )