Chapter 1



Inbound Marketing

มาเริ่มต้นทำความรู้จักกับ Inbound Marketing หรือการตลาดแบบ "ดึงดูด"

การที่คุณได้เข้ามาอ่านบทความนี้ อาจเป็นเพราะมีสื่อบางชิ้นกระตุ้นให้คุณสนใจและ ‘ถูกดึงดูด’ เข้ามา

การดึงดูดให้ค้นพบคอนเทนต์ คือหนึ่งในขั้นตอนเบื้องต้นของการตลาดแบบ Inbound Marketing นอกจากนี้ การตลาดวิถีนี้ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่เราอยากแนะนำให้คุณได้รู้จัก

ถ้าตอนนี้คุณยังไม่ทราบว่าคำนี้หมายถึงอะไร …ไม่เป็นไร…เราจะมาอธิบายให้คุณฟัง

Inbound Marketing คืออะไร?

Inbound Marketing หรือ การตลาดแบบแรงดึงดูด คือ การทำการตลาดด้วยการสร้าง “แรงดึงดูด” ให้ผู้คนหันมาสนใจและอยากเข้าหา ผ่านการส่งมอบคุณค่าที่เป็นประโยชน์แก่ผู้คน ทำให้พวกเขารู้สึกว่าคุณเป็น “ตัวตนที่น่าเชื่อถือ” จากนั้นก็ค่อยๆ ฟูมฟักคนเหล่านี้ให้พร้อมเป็นลูกค้า และอยากซื้อสินค้า-บริการจากคุณ

การตลาดแบบ Inbound Marketing คิดค้นโดย HubSpot บริษัทการตลาดชื่อดัง คำนี้ได้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแวดวงนักการตลาด มีธุรกิจหลายเจ้ากระโจนเข้ามาสู่สนาม Inbound กันมากขึ้น ด้วยเป็นวิถีการทำการตลาดแบบใหม่ แตกต่าง และเหมาะกับยุคสมัย

Inbound Marketing vs. Outbound Marketing

Outbound Marketing คือ

Outbound Marketing คือ การตลาดแบบแรงผลัก หมายถึง การผลักสารออกไปในรูปแบบของ Interruption Based เป็นการส่งสารไปหากลุ่มเป้าหมายโดยตรง ซึ่งอาจจะไปขัดจังหวะระหว่างที่ผู้รับสารกำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ เช่น การทำ Cold-Call, อีเมลหา Cold lead, โฆษณาบนโทรทัศน์ ป้ายบิลบอร์ด ยิงแอด Facebook Email Marketing โทรตรงถึงลูกค้า จ้างดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์ช่วยโปรโมต หรือการทำแคมเปญการตลาดต่างๆ

แตกต่างจาก Inbound Marketing ที่เป็น Permission-Based คือการขออนุญาตผู้รับสารก่อนที่จะทำการส่งสาร ซึ่งการจะทำให้ผู้คนอนุญาตได้นั้น ก็ต้องทำการตลาดให้ผู้รับสารอยากเข้ามาหาเราเอง

เปรียบเทียบ Inbound vs Outbound Marketing อะไรดีกว่ากัน

จากคอนเซปต์ข้างต้นก็พอจะเห็นความแตกต่างระหว่าง Inbound และ Outbound Marketing กันแล้ว ซึ่งเราสามารถลงรายละเอียดข้อแตกต่างที่สำคัญเป็นข้อๆ ได้ ดังนี้

  • Outbound Marketing เน้นผลักสาร โดยพยายามวิ่งเข้าหาลูกค้า ให้ผู้คนเห็นสินค้าและบริการของตนมากที่สุด ขณะที่ Inbound Marketing เน้นดึงดูด คอยส่งมอบคุณค่าให้แก่ผู้คน
  • Outbound Marketing เน้นพูดเรื่องของตัวเอง สิ่งที่แบรนด์ต้องการ ขณะที่ Inbound Marketing เน้นฟังความต้องการลูกค้า เพื่อที่จะเอามาผลิตคอนเทนต์ที่คอยแก้ไขปัญหาของพวกเขา
  • Outbound Marketing เน้นเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก ผ่านการโปรโมตโฆษณา ลดราคาสินค้า ขณะที่ Inbound Marketing เน้นสร้างช่องทางให้แข็งแกร่ง เขียนบล็อกคุณภาพลงเว็บไซต์ โพสต์ให้ความรู้แก่ผู้คนลง Social Media
  • Outbound Marketing เน้นขายลูกค้า (Sales Cycle) ขณะที่ Inbound Marketing เน้นให้ลูกค้าซื้อ (Buying Cycle)  

อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว การตลาดทั้ง 2 แบบ ไม่มีอะไรดีหรือแย่กว่ากัน เพราะต้องขึ้นอยู่กับบริบท เป้าหมายของธุรกิจ สินค้า และบริการของคุณ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร

อธิบายเพิ่มเติม คือ ถ้าคุณหวังทำกำไรในระยะสั้น เพราะว่าคุณต้องหาเงินมาหล่อเลี้ยงธุรกิจของคุณ หรือถ้าสินค้าที่คุณขายเป็นสินค้าทั่วๆ ไป (Commodity Products) ที่เน้นการเข้าถึงคนเป็นจำนวนมาก การทำการตลาดแบบ Outbound อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ในทางกลับกัน ถ้าคุณหวังให้ธุรกิจยั่งยืนในระยะยาว และคุณพร้อมที่จะลงทุนโดยที่ผลลัพธ์ที่คุณจะได้รับกลับมานั้นอาจจะใช้เวลาหลายเดือน หรือเป็นหลักปี หรือถ้าสินค้าที่คุณขายเป็นสินค้าแบบ B2B ที่เน้นเจาะตลาดเฉพาะ (Niche Products) การตลาดแบบ Inbound จะเป็นวิธีที่น่าสนใจกว่า

อย่างไรก็ตาม การทำการตลาดในยุคปัจจุบันนั้นควรใช้ 2 วิธีผสมกัน โดยใช้การตลาดแบบ Inbound ที่เป็นการส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า และสร้างธุรกิจในระยะยาวเป็นศูนย์กลาง และใช้การตลาดแบบ Outbound เป็นส่วนเสริมในการช่วยทำให้ลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้าใหม่ๆ เห็นคุณค่าที่คุณทำด้วย

Inbound Marketing Framework

หากคุณจะเข้าใจหลักการทำงานของ Inbound Marketing ให้ตกผลึกเพื่อนำไปใช้งานจริงได้นั้น เราแนะนำให้คุณศึกษา Framework ของ Inbound Marketing ด้วย

Inbound Marketing Framework คือ กรอบแนวคิด หรือกรอบการทำงานของการตลาดแรงดึงดูด ที่พัฒนามาอย่างเป็นระเบียบแบบแผน และได้รับการยืนยันจากผู้นำ Framework นี้ไปใช้จำนวนมาก ว่าเข้าใจง่าย และนำไปใช้งานได้จริง

ซึ่ง Hubspot ได้พัฒนา Inbound Marketing Framework ให้ On Date อยู่เสมอ จึงทำให้มีการปรับแก้ Framework มาแล้ว 2 ครั้ง

Inbound Marketing Framework รุ่นแรก

Inbound Marketing Framework เวอร์ชั่นเก่า
Inbound Marketing Framework เวอร์ชั่นเก่า

นี่คือหน้าตาของ Inbound Framework ก่อนที่จะมีการปรับปรุง เราตัดสินใจยังใส่ไว้ในบทความอยู่ เพราะ Framework รุ่นนี้เข้าใจง่าย เพียงเห็นแผนภาพก็สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยตนเอง และผู้อ่านสามารถดูเปรียบเทียบข้อแตกต่างของ Framework ทั้ง 2 รุ่น เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจกระบวนการคิดของ Inbound Marketing ตั้งแต่เริ่มต้น 

Inbound Marketing Framework รุ่นแรก เริ่มตั้งแต่ขั้น Attract เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นผู้เข้าชม จากนั้นก็ Convert ผู้เข้าชมให้เป็นลูกค้ามุ่งหวัง เพื่อนำไปสู่ขั้นตอน Close ปิดการขายลูกค้ามุ่งหวังที่ได้มา และขั้นตอนสุดท้ายคือ Delight ทำให้ลูกค้าหลงรักในสินค้าหรือบริการของคุณ จนเกิดการใช้ต่อ ซื้อซ้ำ และบอกต่อ

Framework รุ่นนี้เข้าใจง่าย เห็นเส้นทางการซื้อของลูกค้าตั้งแต่ต้นจนจบ และสามารถช่วยเพิ่มลูกค้าเข้าธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แต่ด้วยความที่มีต้นมีจบชัดเจนนี้เอง จึงทำให้คุณไม่สามารถมองเห็น Momentum ของสิ่งที่คุณทำ ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างสินค้าหรือบริการของคุณกับประสบการณ์ของลูกค้า อีกทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจเลย 

HubSpot เล็งเห็นช่องโหว่ดังกล่าว จึงได้พัฒนา Inbound Framework เป็นรุ่นที่ 2

Inbound Marketing Framework รุ่นสอง

Inbound Marketing Flywheel
Inbound Marketing Flywheel

HubSpot พัฒนา Inbound Framework รุ่น 2 ในช่วงปลายปี 2018 โดยครั้งนี้พัฒนามาเป็นแบบ Flywheel ที่มีลักษณะเป็นล้อ เป็นวงจรไม่สิ้นสุด โดยมี “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง”

ซึ่ง Inbound Marketing Framework รุ่นสองนี้ มีรายละเอียดในขั้นต่างๆ ได้แก่

1. Attract

เริ่มต้นดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย เปลี่ยนคนแปลกหน้า (Stranger) ให้มาเป็นผู้เข้าชม (Visitor) ของเรา ซึ่งไม่ใช่คนแปลกหน้าที่เราไม่ทราบที่มาที่ไปเลย แต่ควรเป็นคนที่เรามองไว้แล้วว่าเขาเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา (ผ่านการทำ Buyer persona

บทความนี้เองก็เช่นกัน… บางทีคุณอาจไม่เคยรู้จัก Content Shifu มาก่อน แต่คุณอาจเจอคอนเทนต์ชิ้นนี้ของเราผ่านการค้นหาบน Google เห็นเราบนโซเชียลมีเดีย หรือบางทีก็อาจจะเป็นสื่ออื่นๆ ตัวอย่างช่องทางที่ใช้ในการ Attract  ได้ จึงอาจเป็น Social media ต่างๆ, การทำ SEO ให้กับคีย์เวิร์ดที่ใช่ และการเขียนบล็อก

2. Engage

แอเรียของขั้นนี้ ครอบคลุมตั้งแต่เริ่มมีผู้เข้าชม ไปจนถึงสามารถปิดการขายได้ หลังจากดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เป็นผู้เข้าชมได้ เราจะทำให้พวกเขาเปิดใจรับสารของเรา และไปถึงยังกระบวนการซื้อ ซึ่งมีเทคนิควิธีการหลายรูปแบบ ซึ่งอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อให้ Visitor ชื่นชอบเรามากขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอข้อมูลเชิงลึก หรือเทคนิคพิเศษที่จะช่วยแก้ปัญหา (Pain Point) ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ เพราะเมื่อเราสามารถแก้ปัญหาให้ ลูกค้าก็จะเริ่มชอบแบรนด์ และอยากเข้ามามีส่วนร่วม (เรียกคนในลักษณะนี้ว่า ลูกค้ามุ่งหวัง หรือ Lead) 

จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการกล่อม Lead ให้กลายเป็น Customer หรือลูกค้าที่ซื้อสินค้าหรือบริการจากแบรนด์ 

ขั้นตอนนี้ เป็นการนำ Convert กับ Close ใน Framework รุ่นแรกมารวมกัน เนื่องจากหลายๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะ B2C ที่การ Convert และการ Close แทบจะเกิดขึ้นด้วยกระบวนการที่คล้ายกัน/ในเวลาไล่เลี่ยกัน

3. Delight

ขั้นนี้ เป็นกระบวนการหลังจากที่เราได้ลูกค้ามีเรียบร้อยแล้ว โดยเราจะตะล่อม ค่อยๆ ทำให้พวกเขาหลงรักเรามากยิ่งขึ้น และให้เขาโปรโมตแบรนด์ของเราให้เพื่อนๆ ของเขาเอง

มีการบริการหลังการขาย ช่วยเหลือ สนับสนุนลูกค้าของเรา ทำให้พวกเขาได้รับประโยชน์จากการใช้สินค้า-บริการที่ซื้อไปให้ได้ เพราะลูกค้า เป็นนักโปรโมตที่ดีที่สุดคนนึงที่คุณจะมีได้ เมื่อลูกค้าได้ประโยชน์ พวกเขาจะโปรโมตแบรนด์ของคุณให้คนรู้จักแบบฟรีๆ และเชื่อหรือไม่ว่าผู้คนจะเชื่อถือคำพูดของลูกค้ามากกว่าตัวแบรนด์ 

และหนึ่งในคอนเทนต์ที่ใช้ประโยชน์จากคำพูดลูกค้าได้อย่างทรงพลัง คือ รีวิว หรือการบอกเล่าสินค้า-บริการของคุณผ่านปากลูกค้าโดยตรง ซึ่งเป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่ผู้คนจะเชื่อมากที่สุด เพราะรีวิวคือประสบการณ์การใช้งานจริงของลูกค้า หรือความรู้สึกที่เกิดจากการซื้อสินค้า-บริการจากเรา  

ดังนั้น นอกจากคุณจะทำให้ลูกค้าเข้าสู่ขั้นตอน Engage ให้พวกเขาชื่นชอบจนเลือกซื้อกับคุณได้แล้ว อย่าลืมหาวิธีทำให้ลูกค้ายินดีมาเป็นผู้ช่วยโปรโมตให้กับคุณด้วย เช่น ขอให้กดแชร์บนโซเชียล สัมภาษณ์เพื่อนำมาทำคอนเทนต์ Testimonial หรือเปิด Community ของผู้ชื่นชอบแบรนด์ของคุณ ให้มาพูดคุณกัน เป็นกระบอกเสียง และทำให้ผู้คนรู้จักแบรนด์ของคุณเป็นวงกว้าง

จาก Funnel สู่ Flywheel

Marketing Funnel to Flywheel

สิ่งหนึ่งที่ Inbound Marketing รุ่น 1 กับ 2 แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือการเปลี่ยนจากรูปแบบ Funnel ที่มีต้นมีจบชัดเจน สู่ Flywheel ที่มีลักษณะของกงล้อ เป็นวงจรไม่สิ้นสุด

ในรูปแบบ Funnel ผู้คนในองค์กรจะแบ่งฝ่ายแยกงานกันชัดเจน โดย Marketing มีหน้าที่ Attract & Convert, Sales มีหน้าที่ Close และ Customer Service มีหน้าที่ Delight ซึ่งรูปแบบนี้มีข้อเสียคือ จะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดูแล Customers อย่างถึงที่สุด เพราะหน้าที่ของตนเองได้สิ้นสุดแล้ว

Framework ใหม่จึงปรับจาก Funnel มาเป็น ‘Flywheel’ ที่มีลักษณะเป็นล้อ ซึ่งมีความหมายที่น่าสนใจคือ จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดบรรจบกัน โดยมี “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” หมายความว่างานเอาใจใส่ลูกค้า (Delight) นั้นไม่มีสิ้นสุด และสามารถเชื่อมโยงกลับมาสู่จุดเริ่มต้น (Attract) เพื่อให้ลูกค้าคนเดิมนั้นกลับมาเป็นลูกค้าคนใหม่อีกครั้งได้

ตัวอย่าง Inbound Marketing จากเคสจริง

เป็นที่รู้จักกันดีว่าการทำการตลาดแบบแรงดึงดูดนั้น ‘ลูกค้า’ คือศูนย์กลาง และการที่จะทำ Inbound Marketing ให้สำเร็จก็ควรจะเดินตาม Framework ตามลำดับตั้งแต่ Attract, Engage ไปจนถึงขั้นตอน Delight 

ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพ ขอยกกรณีศึกษาจาก Content Shifu เอง ที่ได้ปรับใช้ทฤษฎี Inbound Marketing โดยการหยิบยื่นสิ่งที่มี ‘คุณค่า’ ให้กับผู้ที่ค้นหาหรือกำลังต้องการคำตอบจากคีย์เวิร์ดนั้นๆ ผ่านการเขียนความรู้และแชร์ประสบการณ์ลงใน Blog ของเว็บไซต์ รวมทั้ง ใช้ Social Media เป็นอีกช่องทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วย

ซึ่งหลังจากผู้ที่แวะมาเยี่ยมชมได้อ่าน Blog เป็นที่เรียบร้อย เราก็จะใช้ เทคนิค “Lead Generation “ ทำการแลกเปลี่ยนสิ่งที่มีคุณค่าอื่นๆ กับข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ของผู้เยี่ยมชม โดยที่ข้อมูลอาจจะเป็น ชื่อ, อีเมล, Job Function และ Business Category แลกกับ eBook หรือคอนเทนต์เกี่ยวกับความรู้ในรูปแบบที่ที่ Content Shifu ถนัด 

และหลังจากที่เราได้ข้อมูลติดต่อคนที่กรอกข้อมูลมาแล้ว เราก็จะช่วยวิธีฟูมฟัก (Nurture) จาก Subscriber / Stranger ให้กลายเป็น “Leads” จนถึงเป็น “Customer” จริงๆ ด้วย การทำ Email Nusturing ส่งมอบคุณค่า ประโยชน์ และแนะนำบริการที่ใช่ให้ในเวลาที่เขาต้องการหรือเข้าใจความสำคัญแล้วจริงๆ

กระบวนการทำ Inbound Marketing จึงไม่ใช่การทำการตลาดที่รบกวนด้วยโฆษณา แต่มอบคุณค่าก่อน เพื่อให้ “อนาคตลูกค้า” พร้อมที่จะ “ซื้อ” หรือเลือกเราเป็นทางแก้ปัญหา

อ่าน: เคสการปิดการขายด้วยการทำ Email Marketing

ข้อเสียของ Inbound Marketing

แม้หลักการของ Inbound Marketing จะดูน่าพิสมัย เป็นการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าก่อนที่จะได้รับกลับมา แต่ Inbound Marketing ก็มีข้อสังเกตที่ควรพิจารณา ซึ่งมีด้วยกันดังนี้

1. มีเว็บไซต์ที่ต้องดูแลอยู่ตลอด

หัวใจสำคัญของการทำ Inbound Marketing คือการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง รวมถึงการมีบล็อกเพื่อเป็นโรงงานคอนเทนต์ประจำบ้าน แต่สิ่งที่หลายๆ คนไม่รู้คือ บ้านมีต้นทุนในการสร้าง การดูแลรักษา ต้องมีทักษะทำเว็บไซต์ในระดับหนึ่ง หรือหากคุณจ้างทำก็มีค่าใช้จ่ายตามมา ส่วนจะราคาเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับขนาด และฟังก์ชันของเว็บไซต์ธุรกิจคุณ

การดูแลเว็บไซต์ รวมไปถึงเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย ต้องมีโปรแกรมเมอร์ที่คอยป้องกัน ตรวจสอบเหล่ามิจฉาชีพ หรือแฮ็กเกอร์ ที่สามารถเข้ามาล้วงข้อมูลบนเว็บไซต์คุณได้ตลอดเวลา 

อีกทั้ง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ Social Media ที่เพียงคุณสมัครสมาชิกจบ ก็สามารถใช้งานได้ทันที ไม่มีอะไรยุ่งยาก เปรียบเสมือนคอนโดที่มีส่วนกลางคอยอำนวยความสะดวก อะไรๆ ก็ง่ายและดูดีในตัวมันเอง

แตกต่างจากการสร้างเว็บไซต์ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ดี ผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้รับประสบการณ์ที่ดีกับการ Visit บนหน้าเว็บคุณ (User Experience) ด้วยองค์ประกอบที่ลงตัวทั้งในด้านของเนื้อหา สีสัน หน้าตา (User Interface) หรือการใส่เนื้อหาที่เข้าใจง่าย อ่านง่าย ค้นหาง่าย (Site Structure) เป็นต้น 

2. ต้องมีคอนเทนต์คุณภาพ และลงอย่างสม่ำเสมอ

Inbound มีคอนเซปต์คือการส่งมอบคุณค่า และการทำคอนเทนต์คุณภาพ เป็นหนึ่งในรูปแบบที่สำคัญ ที่จะให้คุณค่ากับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการเขียนคอนเทนต์ให้ผู้คน Search เจอบน Google Search

สำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ เฉพาะแค่การทำบล็อก ก็นับเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งแล้ว คนทำงานเอย เจ้าของธุรกิจเอย อาจจะไม่ถนัดเขียน หรืออาจไม่มีเวลาทำ (แม้เราจะแนะนำให้ทำก็ตาม) หลายๆ บริษัทยังไม่มีทีมคอนเทนต์ด้วยซ้ำ ต้องหาคนมาทำ ต้องเซ็ตอัปทีมขึ้นมา

…กว่าจะได้มาหนึ่งบทความก็ไม่หมูแล้ว (บทความใน Content Shifu ใช้เวลาเขียนตั้งแต่ 3-4 ชั่วโมง ไปจนถึงหนึ่งวันเต็ม หรือมากกว่าหนึ่งวัน)

ยังไม่รวมการลงทุนกับความรู้ด้าน SEO รวมถึงการลงทุนทำคอนเทนต์รูปแบบอื่นๆ อย่างวีดีโอ

3. ขั้นตอนของ Inbound มีเรื่องให้คำนึงถึงเยอะ 

แม้ดูเหมือนว่า Inbound จะมีองค์ประกอบไม่ซับซ้อน เพราะมีเพียง 3 ขั้นตอน คือ Attract, Engage และ Delight แต่ขั้นต่างๆ เหล่านี้ มีเรื่องให้ต้องคำนึงถึงมากมาย 

อย่างเรื่องการทำคอนเทนต์ ที่เรื่องในหัวข้อเดียวกัน แต่ต้องเขียนให้แตกต่างกันตามแต่ขั้นที่ลูกค้าอยู่ ขั้น Attract ที่คนยังไม่รู้จักเรา ก็ทำคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย ให้คนแชร์เยอะๆ ขั้น Engage ก็เปลี่ยนมาทำคอนเทนต์ Know How ให้คนเห็นคุณค่า จนเกิดความรู้สึกชอบในแบรนด์ของคุณ ขั้น Delight ก็อาจทำเป็น Email Marketing ทำ CRM ทำ Testimonial เพื่อให้ลูกค้ากลายเป็น Promoter ให้กับแบรนด์ของคุณ

หากจะให้บอกว่าขั้นตอนไหนยากที่สุด เราก็คงต้องยกให้ขั้น Delight เนื่องจากการรักษาหรือฟูมฟักให้ลูกค้ากลายเป็น Promoter อยากบอกต่อแบรนด์หรือธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ต้องวางกลยุทธ์อย่างแยบยล ใช้เครื่องมือต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ เพื่อทำให้ลูกค้าประทับใจจนอยากบอกต่อหรือกลับมาซื้อซ้ำให้ได้

4. อาจต้องรอนานเป็นปี จึงจะเห็นผล

ถ้าคุณคาดหวังว่าทำ Inbound อย่างการ สร้างบล็อก เขียนบล็อก ติดฟอร์ม วางระบบทุกอย่างเรียบร้อย ก็จะเห็นลูกค้าไหลมาในพริบตา ข้อนี้คุณอาจจะเข้าใจผิด เวทมนตร์อย่าง SEO จะเริ่มเห็นผล เมื่อเวลาผ่านไปหลักหลายเดือน ที่ได้ Traffic จาก SEO เข้ามาเรื่อยๆ นั้น ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แต่เมื่อได้มาแล้ว ก็เป็น Traffic ที่ได้ฟรี ไม่เสียตังค์ซักบาท

ในเรื่องของ Conversion สถิติโดย HubSpot บอกว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คุณสามารถเพิ่มจำนวน Leads ในมือ เป็นสองเท่าได้ โดยใช้เวลาหกเดือน และเพิ่มเป็นหกเท่า โดยใช้เวลาประมาณหนึ่งปี

ให้ใจผู้คนก่อน คือ หัวใจของ Inbound

ในทุกๆ ขั้นของ Inbound Marketing หรือการตลาดแรงดึงดูด มีหลักการที่สำคัญที่สุดคือ การเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หมายความว่าในทุกๆ สิ่งที่ทำ จะต้องนึกถึงผลประโยชน์ของผู้คน ให้พวกเขาได้ประโยชน์จากสินค้าหรือบริการ ซึ่งมีรายละเอียดขั้นต่างๆ ดังนี้

1. Attract ดึงดูผู้คนให้รู้จัก ผ่านการให้ความรู้ ให้ประโยชน์ในเรื่องเบื้องต้นแก่พวกเขา

2. Engage ส่งมอบคุณค่า ผ่านความรู้ที่เจาะลึก พร้อมเสนอ Offer เพื่อมอบ Solution แก่กลุ่มเป้าหมาย แก้ Pain Point หรือปัญหาที่พวกเขาประสบ 

3. Delight ทำให้ผู้คนชื่นชอบ หลงรักในแบรนด์ จนเกิดการใช้ซ้ำ และโปรโมตต่อ

Inbound Marketing เป็นแนวคิดด้านการตลาดที่พวกเรายึดถือและปฏิบัติตามมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และปัจจุบัน Content Shifu ก็ได้รับดอกผลจากการลงทุนลงแรงอย่างคุ้มค่า พวกเราจึงอยากเชียร์ให้ทุกคนเริ่มหันมาทำ Inbound Marketing กันนะ

คุณควรทำ Inbound Marketing หรือไม่

หากคุณอ่านบทความมาจนถึงตรงนี้ นั่นก็หมายความว่าคุณน่าจะเริ่มต้นสนใจการทำการตลาดแบบแรงดึงดูดอยู่พอสมควร เพราะ Inbound Marketing มีข้อดีคือไม่ต้องการต้นทุนสูง โดยการสร้าง “แรงดึงดูด” คอยส่งมอบคุณค่า สร้างตัวตนที่น่าเชื่อถือ จนผู้คนเข้ามาหาด้วยตัวเอง

ซึ่งเราสรุปรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมกับการทำ Inbound Marketing มาให้ 3 ข้อดังนี้

1. เป็นธุรกิจแบบ B2B (Business to Business)

2. เป็นธุรกิจที่แก้ปัญหาให้กับผู้คน

3. เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าต่อชิ้น/ต่อออเดอร์สูง

 

New call-to-action