ในปี 2022 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ทักษะการทำงานแบบ Remote work และทักษะทางดิจิทัลกลายเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากต้องปรับตัวเข้ากับวิถีการทำงานแบบใหม่ของการทำงานจากที่บ้าน

และแม้ว่าในตอนนี้ สภาพการทำงานอาจดูเหมือนว่า ‘กลับมาสู่ภาวะปกติ’ แล้วแต่หากพูดกันตรงๆ ก็ต้องยอมรับว่าเทรนด์การทำงานแบบใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่นซึ่งเกิดจากผลกระทบของโรคระบาดได้เปลี่ยนแปลงแนวทางในการจ้างงานและการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง

ไม่ว่าจะเป็นทั้งการเกิดอาชีพใหม่หลายอาชีพ รูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ หรือแม้กระทั่งเกณฑ์การคัดเลือกในการจ้างงานที่หักมุมไปจากแนวทางแบบดั้งเดิม

วันนี้เราจึงรวบรวมา 6 เทรนด์การทำงานในปี 2023 ที่ต้องรู้ จะมีอะไรบ้าง มาดูกัน!

งานจากบริษัทชั้นนำรอคุณอยู่เปิดประตูงานที่ใช่ของคุณที่ Content Shifu Jobs แพลตฟอร์มเฉพาะสายงานดิจิทัลเน้นๆ ที่จะทำให้คุณเจองานที่ชอบ บริษัทที่ใช่ก่อนใคร


6 เทรนด์การทำงานของคนยุคใหม่ในปี 2023

  1. Quiet Quitting

Quiet Quitting หมายถึง การลาออกในทางปฏิบัติเพียงแต่ยังไม่ได้ทำเรื่องอย่างเป็นทางการ

โดยพฤติกรรม Quiet Quitting ที่มักพบเห็นได้เด่นชัดก็อย่างเช่น การลดความมีส่วนร่วมให้กับงาน การลดความรับผิดชอบหรือภาระงาน (Workload) หรือแม้กระทั่งการไม่เข้าออฟฟิศ

มีแนวโน้มสูงว่า Quiet Quitting อาจกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้มากในเทรนด์การทำงานในปี 2023 นี้ เพราะการมีรูปแบบการทำงานแบบ Remote Work ทำให้พนักงานตัดสินใจที่จะลดการปฏิสัมพันธ์กับงานที่ตัวเองทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ

  1. Hybrid Work

“ไปต่อหรือพอแค่นี้กับ WFH?” คำถามที่หลายๆ คนตั้งขึ้นมาหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ  COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารและการทำงาน ทำให้ Remote Work กลายเป็นหนึ่งใน ‘สวัสดิการที่ควรได้’ 

และเกิดรูปแบบการทำงานประจำแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างกระแสของสายอาชีพ Digital Nomad ทำงานได้ทุกที่ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ สำหรับคนที่ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน 

อย่างไรดีก็ใช่ว่าทุกธุรกิจจะสามารถทำงานแบบ Remote Work ได้ เช่น งานบางงานอาจต้องมีการพูดคุยเจรจาโดยตรงหรือที่เรียกว่า Human Interaction หรือบางงานจำเป็นต้องมีการเข้าถึงอุปกรณ์พิเศษที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายจากที่บ้าน

และในทางกลับกัน บางครั้งมนุษย์เราก็โหยหาความสัมพันธ์ทางสังคมในที่ทำงาน และด้วยสาเหตุต่างๆ นี้เอง จึงมีความเป็นไปได้ว่าเทรนด์การทำงานในปี 2023 นั้น จะรวมทั้งการทำงานแบบยืดหยุ่น (Remote Work) และ การมีปฏิสัมพันธ์กับที่ทำงานเข้าไว้ด้วยกัน เป็น Hybrid Work ที่ลูกจ้างสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานเป็น On-Site หรือ Off-Site นั่นเอง

  1. Gig Economy

Gig Economy หมายถึง การจ้างงานแบบระยะสั้นหรือแบบชั่วคราว

นั่นคือ บริษัทจะหันมาจ้างพนักงานที่เป็นฟรีแลนซ์หรือพาร์ทไทม์แทนการจ้างพนักงานประจำ เพื่อลดต้นทุนด้านสวัสดิการต่างๆ รวมถึงเรทเงินเดือนที่สามารถยืดหยุ่นได้สูงขึ้น

การจ้างงานแบบนี้มีบทบาทสำคัญสำหรับธุรกิจต่างๆ ในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่มีความผันผวนได้อย่างรวดเร็ว

เพราะ องค์กรสามารถบริหารทรัพยากรบุคคลมาเติมในตำแหน่งชั่วคราว หรือตามฤดูกาลของตลาดได้อย่างรวดเร็ว จัดการกับความต้องการที่พุ่งสูงขึ้น หรือทำโครงการระยะสั้นให้เสร็จโดยไม่ต้องจ้างงานระยะยาว

นอกจากนี้ Gig Economy ยังช่วยให้เสริมสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่อาจไม่มีในองค์กรตามไปเนื้องานของโครงการต่างๆ อย่างเฉพาะเจาจะจงได้ ตัวอย่างเช่น บริษัทอาจจ้าง Content Creator อิสระ นักออกแบบกราฟิก หรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) สำหรับโครงการใดโครงการหนึ่งโดยเฉพาะ แทนที่จะจ้างพนักงานประจำที่มีทักษะเหล่านั้น

  1. Frugality

Frugality หมายถึง เทรนด์การทำงานที่ให้เวลาไปกับการใช้ชีวิตมากกว่าจะทุ่มให้กับการทำงาน

แนวทางการทำงานแบบนี้ก็คือการทำงานที่ยึดแนวทางแบบ Minimalist หรือแบบประหยัดนั่นเอง

พวกเขาจะไม่ทุ่มเทเวลาไปกับการทำงานเพื่อผลลัพธ์ แต่เลือกที่จะทำงานตามเวลาเลิกงาน ไม่ทำนอกเวลาอีก และให้เวลากับชีวิตมากขึ้น

ในแง่หนึ่ง เทรนด์การทำงานแบบนี้อาจดูเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับองค์กรต่างๆ แต่ความจริงแล้ว หากเราดูอีกมุมแล้วจะเห็นได้ว่า Frugality เป็นวิถีในการสร้าง Work-life balance ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของการรักษาทรัพยากรบุคคลในองค์กรในระยะยาวอีกด้วย

พูดโดยรวมแล้ว Frugality ก็คือการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมและประสบการณ์ที่มีความหมายและเติมเต็มทั้งในการให้ความหมายของชีวิตและการทำงาน ทำให้คนเราสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจบั่นทอนไฟในใจของแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น

  1. Boomerang Employee
ที่มา: talentlms.com

Boomerang Employee ก็คือ การลาออกไปครั้งหนึ่งแล้วค่อยกลับมาทำงานที่เดิมด้วยประสบการณ์ที่สูงขึ้น เพื่อขอเงินเดือนในเรทที่สูงขึ้นเช่นกัน

จากรายงานของ World Economic Forum บอกว่า กว่า 28% ได้เงินเดือนสูงขึ้นกว่าเปลี่ยนงานแล้วสมัครที่ใหม่ไปเรื่อยๆ เสียอีก

เทรนด์การทำงานแบบนี้เริ่มกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นในตลาดงานในปัจจุบัน เพราะบริษัทต่างๆ ตระหนักถึงคุณค่าของการว่าจ้างบุคคลที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรม ค่านิยม และกระบวนการของบริษัทอยู่แล้ว

การจ้างงานพนักงานที่คุ้นเคยกับบริษัทอยู่แล้วนั้นช่วยประหยัดเวลาและเงินของบริษัทในการสรรหาและต้อนรับพนักงานใหม่ อีกทั้งยังนำประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ มาสู่บริษัท

ซึ่งหากผ่านการตรวจคัดจากกลุ่ม Boomerang Employee ให้เหมาะสม ก็ถือได้ว่าองค์กรก็ได้รักษาหนึ่งในทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของบริษัทได้

  1. DEI is New Normal

ในอนาคตพนักงานหลายคนซึ่งส่วนมากก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มคน Gen Z จะเริ่มมองหาที่ทำงานที่ไปไกลมากกว่าการมีสวัสดิการที่ดีพอ แต่ยังมองถึงสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่เห็นความสำคัญกับค่านิยม ‘DEI’

โดย DEI ย่อมาจาก Diversity (ความหลากหลาย), Equity (ความเสมอภาค) , and Inclusion (ความเป็นหนึ่งเดียวกัน) ซึ่งใจความหลักของแนวคิดนี้ก็คือ การยอมรับความแตกต่างในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ เพศสภาพ หรือแม้กระทั่งช่วงวัย
จากผลการสำรวจของ Indeed and Glassdoor พบว่า พนักงานจำนวนร้อยละ 62 ในสหรัฐฯ อาจปฏิเสธงานนั้นหรืออยากลาออก หากพวกเขาคิดว่ากลุ่มผู้นำในองค์กรนั้นไม่แสดงถึงการสนับสนุนความหลากหลายในที่ทำงาน

เตรียมตัวอย่างไรให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงาน?

สำหรับองค์กร

  1. Digital Productivity

Digital Productivity ก็คือการหันมาใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process)

การปรับโครงสร้างของธุรกิจให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นส่งผลดีหลายด้าน ทั้งการลดต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการทำให้กระบวนการทำงานเกิดขึ้นเป็นรูปแบบที่ซ้ำ ๆ หรือเป็นแบบระบบอัตโนมัติ และปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้เอง Digital Productivity ยังช่วยให้หลายๆ องค์กรสามารถดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถระดับสูงไว้ได้ เพราะเมื่อคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน พวกเขาเองก็มองหานายจ้างที่เปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลและจัดเตรียมการทำงานที่ยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมากขึ้น

  1. Freelance

คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจ้างฟรีแลนซ์นั้นสร้างประโยชน์อย่างมากในการดำเนินธุรกิจในยุคนี้

การจ้างฟรีแลนซ์ทำให้ธุรกิจสามารถลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างพนักงานประจำได้ไปพร้อมกับความสามารถในการเข้าถึงอาชีพที่ต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญพิเศษที่อาจไม่มีในองค์กรได้ เช่น งาน Specialist ต่างๆ 

นอกจากนี้ กระบวนการทำงานกับฟรีแลนซ์ก็ยังเพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้นในด้าน Workflow ขององค์กรได้อีกด้วย ซึ่งทำให้ธุรกิจสามารถเพิ่มหรือลดขนาดได้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการได้อย่างทันท่วงที

โดยรวมแล้ว ฟรีแลนซ์ได้กลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าสำหรับการทำธุรกิจในปี 2023 ที่การแข่งขันอย่างเข้มข้นและต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับกระแสตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

  1. Non-degree Jobs

ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของความต้องการในตลาด ทำให้หลายองค์กรต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับงานที่ใช้ทักษะเฉพาะทางที่ต้องการคนที่มีความประสบการณ์โดยตรงมากขึ้น

การคัดเลือกพนักงานจากทักษะและประสบการณ์มากกว่าวุฒิการศึกษาจึงกลายเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในปี 2023 นี้ เพราะองค์กรต้องปรับตัวไปให้พร้อมกับเทรนด์ของ Gig Economy และ Hybrid Work ตามที่กล่าวไว้

นอกจากนี้ จากกระแสการทำงานในยุคสมัยใหม่ที่ทำให้การทำงานในรูปแบบเดิมๆ เริ่มล้าสมัยไปแล้ว จะเห็นได้ว่าหลายบริษัทเองก็น่าจะเริ่มสังเกตเห็นว่าบางครั้งวุฒิการศึกษาระดับวิทยาลัยก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีของความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้สมัครเสมอไป

ดังนั้น ใบปริญญาระดับมหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิมไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงเส้นทางสู่ความสำเร็จอีกต่อไป แต่กลับการวัดความสามารถที่ทักษะส่วนบุคคลโดยตรง

  1. Human skills is new Hard skills

แม้ว่าบริษัทอาจเป็นองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุด แต่มันจะเกิดประโยชน์อย่างไรหากคนในทีมกลับไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ?

แน่นอนว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้ในยุคดิจิทัลนี้ แต่การมีทักษะด้านมนุษย์ที่แข็งแกร่งนี้เองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้องค์กรของคุณกลายเป็นทีมงานที่มีความโดดเด่น

ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างวัฒนธรรมการทำงานในเชิงบวกและการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานได้กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับหลายๆ บริษัท โดยเฉพาะค่านิยม DEI ที่กำลังเป็นกระแสในหมู่แรงงานหน้าใหม่อย่าง Gen Z

ดังนั้น Human Skills อย่างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Effective Communication) การทำงานร่วมกัน ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์และสร้างความไว้วางใจภายในทีม (Team Building) ก็ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการคัดเลือกคนเข้าทำงาน และส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กรในระยะยาวเช่นกัน

สำหรับพนักงาน

  1. Coding is New Global Language

จะเห็นได้ว่ากลุ่มอาชีพที่มีความต้องการสูงในอนาคตมักเป็นตำแหน่งที่มีทักษะความชำนาญด้านเทคโนโลยีสูง

นั่นก็เพราะเมื่อธุรกิจกลายเป็นดิจิทัลมากขึ้น (Digital Transformation) และพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ความสามารถในการทำความเข้าใจและทำงานกับ Code ในฐานะอีกภาษาหนึ่งบนโลกใบนี้ก็มีค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทักษะการเขียนโปรแกรมหรือที่เรียกว่า Coding กลายเป็นทักษะหนึ่งที่เริ่มจำเป็นมากขึ้น

อย่างไรก็ดี นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องเริ่มเขียนโปรแกรมให้ได้ในโดยทันที แต่เพียงแค่ต้องเปิดใจยอมรับและเฝ้าติดตามกระแสข่าวสารของเทคโนโลยีให้มากขึ้น ควรมีความรู้มากพอที่จะสื่อสารเรื่องเทคโนโลยีได้

เช่น หากคุณเป็นนักการตลาด คุณก็ไม่ควรพลาดการอัปเดตข่าวสาร Martech จาก Content Shifu นั่นเองค่ะ

  1. Soft Skills

แม้ว่า Hard Skills ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานต่อไปเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกัน หลายบริษัทก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ Soft Skills เช่นกัน

หลายคนอาจเข้าใจว่าการมีเทรนด์ของ Remote work จะทำให้ Soft Skills กลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ความจริงแล้วนั้นกลับเป็นเรื่องตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

เพราะการที่เราทำงานโดยไม่ได้พบเห็นหน้ากันนั้นกลับทำให้ผู้คนไม่รู้สึกถึงความเชื่อมโยงกันผ่านการปฏิสัมพันธ์ ทำให้การทำงานเป็นทีมด้วย Remote work กลับกลายเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะการสื่อสารอย่างประสิทธิภาพมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่างานตำแหน่งใดก็ตามต่างต้องใช้ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างมาก เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงคำว่า ‘เพื่อนร่วมงาน’ ได้เลยในสังคมการทำงาน

  1. Second Jobs

จะเห็นได้ว่าเทรนด์การทำงานในสมัยนี้เริ่มมองหาคนที่มาทักษะและประสบการณ์มากกว่าจะพิจารณาจากวุฒิการศึกษา การลองหางานอย่าง Second Job ก็จะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่เสริมสร้างโปรไฟล์ในเรซูเม่ได้เช่นกัน

Second Job ยังช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ หรือแสวงหาความสนใจนอกเหนือจากงานหลักได้ ซึ่งสิ่งนี้สามารถนำไปสู่การเติบโตส่วนบุคคล (Self-Development) และในสายอาชีพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางอาชีพและหล่อเลี้ยง Passion ในทำงานได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คนที่สนใจจะทำงานเพิ่มเติมจากงานหลักนั้นควรตระหนักถึงศักยภาพของภาวะหมดไฟหรือการ Burnout และคอยช็คให้แน่ใจว่ายังสามารถรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิต (work-life balance) ที่ดีไว้ได้

และสำหรับใครที่สนใจจะหางานเพิ่มเติมในสายดิจิทัลก็ไม่ควรพลาดกับบทความนี้ที่รวบรวมเว็บไซต์หางานสายดิจิทัลโดยเฉพาะไว้ในที่เดียว

สรุป

เทรนด์หลักของการทำงานที่มีแนวโน้มจะพบเห็นได้มากขึ้นในปี 2023 คือ การจ้างงานที่พิจารณาจากทักษะและประสบการณ์เป็นหลัก โดยที่ลักษณะการจ้างงานนั้นจะมีความเปิดกว้างและยืดหยุ่นมากขึ้น

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าออฟฟิศจะกลายเป็นสิ่งที่ล้มหายตายจากไปจากวงการคนวัยทำงาน เพียงแต่ออฟฟิศอาจกลายเป็นพื้นที่ที่มีเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในองค์กร สร้างสภาพแวดล้อมในเชิงบวกให้แก่พนักงาน

ในขณะเดียวกัน มุมมองความคาดหวังจากลูกจ้างเองก็ได้หันกลับโฟกัสที่สุขภาพจิตใจมากขึ้น การทำงานกลายเป็นประเด็นหนึ่งในอีกแง่มุมของชีวิตที่หลายคนเริ่มมองอย่างความหมายที่ลึกซึ้งกว่าการนิยามแค่การ ‘ทำงานที่ไหนก็ได้ขอแค่ได้เงิน’

และสุดท้ายนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า Soft Skills กลายเป็นทักษะที่มีบทบาทโดดเด่นมากในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งองค์กรหรือฝั่งลูกจ้างเองก็ต้องครอบครองทักษะนี้ไว้ในการทำงาน

ตาคุณแล้ว

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลายๆ คนมองเห็นภาพรวมของเทรนด์การทำงานในปี 2023 และสามารถปรับตัวไปพร้อมกันได้อย่างราบรื่น และยิ่งไปกว่านั้นคือ หากใครมีเรื่องราวประสบการณ์การทำงานส่วนตัวในยุคหลังโควิดนี้ก็อย่าลืมมาแบ่งปันกันได้ที่คอมเมนต์นะคะ