ท่ามกลางพายุแห่งความเปลี่ยนแปลงเมื่อมหาวิกฤต (Polycrisis) ถาโถมและท้าทายในทุกมิติ อีกทั้งเศรษฐกิจที่ถดถอย สงครามปะทุ มหาอำนาจห้ำหั่น การค้าเปลี่ยนทิศ พลังงานเปลี่ยนผ่าน เทคโนโลยีไล่กวด หุ่นยนต์คุกคาม และโลกร้อนเกินเยียวยา

แล้วเศรษฐกิจไทยพร้อมแค่ไหนที่จะไล่ล่าสู่อนาคต? พาเศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต ไปกับ 5 เทรนด์โลกต้องจับตา ที่งาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023

THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ครั้งนี้มาในหัวข้อ ‘FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต’ งานฟอรั่มแห่งปีที่รวมผู้นำระดับโลกและไทยกว่า 40 คน จากทุกภาคส่วน หลายเจเนเรชัน หลากความคิด จัดต่อเนื่องสู่ปีที่ 4 พร้อมจับตา 5 เมกะเทรนด์สำคัญระดับโลกที่กำลังเกิดขึ้น ณ ตอนนี้ รวมถึงคาดการณ์ไปยังอนาคต เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่


พบกับ 5 เทรนด์โลกต้องจับตา พาเศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต

1. Economic Fragility

เทรนด์แรกคือความเปราะบางทางเศรษฐกิจ (Economic Fragility) ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง สิ่งที่ไทยต้องเผชิญและรับมือมีทั้งจากปัจจัยภายใน เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การว่างงาน หนี้ครัวเรือน อัตราหนี้สาธารณะ รวมถึงปัจจัยภายนอก เช่น เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยสูง

เดือนตุลาคม 2566 รายงาน East Asia and Pacific Economic Update ของธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดการคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้-ปีหน้าว่าจะโตเพียง 3.4-3.5% เท่านั้น ต่ำกว่าเป้าหมายของนายกฯ ที่เคยกล่าวว่าอยากเห็นเศรษฐกิจไทยโตปีละ 5%

ในเวลาเดียวกัน เราอาจได้เห็นกระแสเงินลงทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างชาติพันธมิตรตะวันตกกับจีน

โจทย์สำคัญคือเราจะทำความเข้าใจภาพรวมที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร อะไรคือความเสี่ยงและความท้าทาย เศรษฐกิจไทยจะคว้าโอกาสในการฟื้นฟูและเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไรท่ามกลางโลกที่ผันผวนเช่นนี้

2. Climate Change

ทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะ ‘โลกเดือด’ นี่คือเทรนด์ใหญ่ของโลกที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะนับจากนี้จะมีกฎระเบียบอีกมากมายที่ถูกบังคับใช้เป็นมาตรฐานทั่วโลก

แม้ประเทศไทยมีหมุดหมายสำคัญคือการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 แต่หากพิจารณาข้อมูลเชิงลึกจะพบว่าการทำตามเป้าหมายได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคพลังงาน ภาคคมนาคม และอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในประเทศ ร่วมกับการใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ หรือการใช้นโยบายภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในเวลาที่เหมาะสม

คำถามคือปัจจุบันเอกชนหรือภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง และมีอุปสรรคอะไรในการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงมีความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีอะไรบ้างที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่าน สร้างอิมแพ็กต์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

3. Tech Disruption

“ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกคนถัดไปอาจเป็นบริษัทเทคโนโลยี”

คือคำกล่าวที่กำลังเป็นจริง เมื่อโลกเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ Generative AI เทคโนโลยีที่จะมีส่วนพลิกโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และจะส่งผลกระทบกับทุกสายงานอย่างแน่นอน

หลายโรงงานในต่างประเทศใช้ Automation ทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องใช้คนงานอีกต่อไป ขณะที่ไทยยังต้องพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก Tech Disruption จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยว่าจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ปรับตัวเท่าทันได้อย่างไร

ยังไม่นับคำถามที่ว่า ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนจะยิ่งถ่างออกหรือไม่ การออกกฎหมายกำกับดูแลควรเป็นอย่างไร เพราะขณะที่ฝั่งยุโรปกำลังจะออก AI Act ในปีหน้า แต่ไทยยังเป็นเพียงแค่ร่างกฎหมายเท่านั้น หากไม่ทันท่วงทีประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย เหมือนที่เราโดน Digital Disruption จากทุนต่างชาติทั้งหมดหรือไม่

4. Geopolitics-Supply Chain and Global Trade

จากองค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่า ภาพรวมของการค้าโลกปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 0.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.7% พร้อมแสดงความกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจรุนแรงขึ้นจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจในมิติต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตของโลกแยกออกจากกัน และมีการกีดกันทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น

โลกกำลังเข้าสู่สงครามชิป (Chip War) ที่ไม่มีโอกาสหวนกลับสู่จุดเดิม และอาจส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อต้นทุนเทคโนโลยีสีเขียวที่เป็นหัวใจหลักของการแก้ปัญหาโลกร้อน เมื่ออุตสาหกรรมชิปและ AI กลายเป็นประเด็นเรื่องความมั่นคง สหรัฐฯ ตั้งเป้าเพิ่มดีกรีการควบคุมการส่งออกทั้งเครื่องจักรและส่วนประกอบสำคัญในการผลิตชิปและเซมิคอนดักเตอร์ เช่นเดียวกับจีนที่อาจยกระดับห้ามส่งออกแร่วัสดุสำคัญในการผลิตชิป

สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีโอกาสขยายความขัดแย้งไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและประเทศสมาชิก NATO

การเมืองในไต้หวันก็น่าจับตา เมื่อผลลัพธ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนมกราคมปีหน้าจะเป็นตัวชี้ชะตาทิศทางความสัมพันธ์บนช่องแคบไต้หวันตลอด 4 ปีข้างหน้า ท่ามกลางความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ในความสัมพันธ์สามเส้า จีน-ไต้หวัน-สหรัฐฯ

ล่าสุดคือสงครามความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน เหตุการณ์นี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างโลกมุสลิมกับโลกตะวันตก และก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทั่วโลก

ความตึงเครียดในระดับโลกที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นความท้าทายด้านการต่างประเทศของไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ ว่าไทยควรวางตัวและรับมืออย่างไรเพื่อให้เราได้เปรียบในแต่ละสถานการณ์

5. Aged Society

‘แก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย’ คือปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่

ประเทศไทยเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์’ เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา และคาดว่าในปี 2030 ไทยจะกลายเป็น ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ คือมีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ

ขณะเดียวกันประชากรเด็กกำลังลดลงเรื่อยๆ มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2023 คาดว่าจะต่ำกว่า 5 แสนคน (จากเป้าหมายจำนวน 7 แสนคน) และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผลกระทบตามมาทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น กำลังซื้อและการบริโภคที่ลดลง รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลง แรงงานในประเทศลดลง ความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศลดลง ซึ่งทั้งหมดหมายถึงบำเหน็จบำนาญที่เราคาดหวังในบั้นปลายชีวิตก็อาจมีไม่พอในรุ่นเรา

ขณะที่เทรนด์ด้าน Biotechnology กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้น การตัดต่อยีน และการผสานการรักษากับ AI จะทำให้ชีวิตของมนุษย์ยืนยาวขึ้น ‘สังคม 100 ปี’ หรือสังคมที่มนุษย์อายุถึง 100 ปีกำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติ

โดยปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ย (Life Span) ของคนไทยอยู่ที่ราว 80 ปี ทว่าระยะอายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ (Health Span) ของคนไทยยังสั้นกว่าอายุขัยเฉลี่ยอยู่ราว 5 ปี ชีวิตยามสูงวัยของเราจึงไม่มีคุณภาพ

คำถามที่น่าคิดคือเราจะจัดสมดุลระหว่างความยั่งยืนของชีวิตและความยั่งยืนทางการเงินให้มีคุณภาพอย่างไร เราจะรับมือกับการขาดแคลนแรงงานพัฒนาประเทศอย่างไร แล้ว ‘สังคม 100 ปี’ เป็นไปได้ไหมสำหรับประเทศไทย

งานนี้เหมาะสำหรับใคร

  • ผู้นำองค์กร ผู้บริหาร ผู้ขับเคลื่อนธุรกิจ
  • ผู้กำหนดนโยบาย ผู้วางกลยุทธ์ ทั้งภาครัฐและเอกชน
  • คนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง

พบกับวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2566 ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)

ซื้อบัตรวันนี้! ราคา Early Bird 3 วัน เหลือเพียง 2,500.-

📌 ดูรายละเอียดและซื้อบัตร >> https://thestandard.co/zipeventapp/e/Economic-Forum-2023/077

📌หรือซื้อบัตรรับชมย้อนหลังได้แล้ววันนี้ที่ Zipevent คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> https://www.zipeventapp.com/e/Economic-Forum-2023??ref=partner5

  • รับชมออนไลน์ทุกที่ทั่วโลก
  • ดูย้อนหลังนาน 6 เดือน (1 ธ.ค. 66 – 31 พ.ค. 67)
  • สรุปเนื้อหา Visual Summary ทุกเวที