เคน-นครินทร์ ตั้งคำถามกับประเทศไทย ‘เราพร้อมสำหรับอนาคตหรือไม่?’ พร้อมชวนทุกฝ่ายมองไปในทิศทางเดียวกันและลงมือทำ บทสรุปงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023: FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต

บทสรุปของ THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023: FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23-25 พฤศจิกายน ณ เพลนารีฮอลล์ 1-4 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยปีนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แต่ละวันมีประเด็นน่าสนใจต่างกันไป ทั้งภาพรวมวิกฤตและความเสี่ยงจากทั่วโลกที่จะส่งผลกระทบต่อไทย ภูมิรัฐศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เต็มไปด้วยความผันผวน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไปจนถึงภาพรวมด้านประสิทธิภาพของแรงงานไทย ซึ่งเป็นกำลังผลิตสำคัญ และแนวทางการต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)   

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด กล่าวสรุปถึงภาพรวมของงานที่ทำให้เราได้มองเห็นเมกะเทรนด์ มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ชัดขึ้น เปลี่ยนจากการที่ ‘เราไม่รู้ว่าต้องรู้อะไร’ แต่ตอนนี้ ‘เรารู้แล้วว่าเราไม่รู้อะไร’ ซึ่งเมกะเทรนด์ที่ว่ามีทั้งหมด 4 อย่าง ได้แก่

1. Digital and Technology เมื่อ AI เก่งกว่าคน เราจะอยู่ร่วมกับมันอย่างไรและองค์กรจะปรับตัวอย่างไร 

2. Sustainability หลายประเทศในยุโรปมีการบังคับใช้ประเด็นนี้กันมากขึ้น ซึ่งธุรกิจที่มักโดนก่อนคือการส่งออกและการค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งสุดท้ายอีกหลายธุรกิจก็จะต้องได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน 

3. Geopolitics ภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสงครามรูปแบบใหม่ การก่อการร้ายรูปแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงสงครามของมหาอำนาจ จะส่งผลกระทบต่อตัวเราและประเทศของเราอย่างไรบ้าง  

4. Health เวลาพูดถึงเศรษฐกิจ เราจะมองแค่เรื่องเดียวไม่ได้ แต่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพที่จะต้องมี Health for All อยู่ในทุกองคาพยพ 

มองกลับมายังไทย ตอนนี้ไทยกำลังอ่อนแอ เครื่องยนต์อุตสาหกรรมของเรากำลังหมดเสน่ห์ ซ้ำยังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขณะที่แรงที่ใช้เป็นกำลังผลิตก็ลดน้อยลง ในส่วนนี้เราสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาสิ่งใหม่เป็น New Business Model หา New S-Curve ที่ตอบโจทย์มากขึ้น เพื่อทำให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และโอกาสก็สำคัญไม่แพ้กัน 

รัฐบาลจำเป็นจะต้องจัดการและให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือต้องพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ทั้งหลักนิติธรรมและความยุติธรรมในประเทศไทย ต้องตั้งคำถามกับทั้งองค์กรและประเทศว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ถูกต้องอย่างไร 

3 คำถามหลักที่ต้องถาม คือ 

1. What เรารู้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกหรือเปล่า 

2. So What ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบอย่างไร เช่น เรารู้ไหมว่ากฎหมายต่างๆ ภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเข้ามาของ AI ส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร

3. Now What เราพร้อมหรือไม่กับการโอบรับความเปลี่ยนแปลง 

คำถามเหล่านี้ทำให้เกิดช่องว่าง 4 หลักใหญ่ๆ ที่ต้องสำรวจว่าไทยมีความพร้อมหรือไม่ ได้แก่ 

1. Technology 

2. Capital 

3. Talent 

4. Knowledge and Skill

ซึ่งวิทยากรทุกท่านกล่าวตรงกันว่า ไทยยังไม่พร้อมสักอย่างเลย เราจะต้องผลักดันกันต่อและทำให้เป็นวาระแห่งชาติ 

เมื่อกลับมาสำรวจความพร้อมแล้ว สิ่งสำคัญสุดท้ายคือความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน แล้วดูว่าคนในประเทศเราเห็นพ้องตรงกันหรือยังว่าจะเดินไปในทิศทางใด 

“ตลอด 3 วันนี้ ทุกท่านจะพูดคล้ายกัน เรามีไอเดียกันเยอะมาก เรามีแผน มีกลยุทธ์มากมาย แต่ความคิด
ถ้าคิดแล้วไม่ทำ ก็มีค่าเท่ากับเราไม่คิดอะไรเลย”

สรุปเนื้อหาทุกเวที 20+ Sessions ซื้อบัตรชมย้อนหลังวันนี้ดูได้นานถึง 6 เดือนที่ https://bit.ly/TSEF2023MP