นับว่าเป็นโอกาสพิเศษสุดๆ ที่ทาง Google ประเทศไทยได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคว่าตลอดปีที่ผ่านมา ผู้คนค้นหาคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับอะไรบ้าง? และสะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างไร? เป็นการรายงานข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับแบรนด์โดยเฉพาะในการนำไปต่อยอดธุรกิจ 

ที่มา: Think with Google

ซึ่งทาง Content Shifu ก็เป็นหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่ได้รับเกียรติในการเข้าร่วมงาน Press Briefing : Year In Search 2021 และนำมาบอกเล่าต่อให้ผู้อ่านผ่านเทรนด์ทั้ง 5 ที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

เทรนด์ที่ 1 : ‘โลกออนไลน์’ กลายเป็นกระแสหลัก

“ขายอะไรออนไลน์” เพิ่มมากขึ้น 44% 

“โค้ดลูกค้าใหม่” เติบโตขึ้น 50% 

“จัดส่งฟรี” สูงขึ้นถึง 60%  

คำค้นหาเหล่านี้สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้ซื้อและผู้ขายที่ย้ายตัวเองเข้ามาสู่โลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทำให้ตลาด E-Commerce เติบโตขึ้น 

ที่มา: Think with Google

เห็นได้จากแคมเปญ Online Shopping ที่ไม่ได้พุ่งสูงแค่ช่วง 11.11 หรือ 12.12 แต่เติบโตสูงมาตั้งแต่ 6.6 มาเรื่อย ๆ จนถึงปลายปี ด้วยยอดการค้นหาที่พุ่งขึ้นสูงถึง 110% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น

และ Google ประเทศไทยยังย้ำด้วยตัวเลขของ Digital Platform User ที่เกิดใหม่ในประเทศไทยถึง 9 ล้านคนเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา (คิดเป็น 13% ของประชากรทั้งหมด)

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลคำค้นหาอื่นๆ ที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับกระแสโลกออนไลน์อีกมากมาย เช่น 

“หาหมอออนไลน์” เพิ่มขึ้น 122%

“Digital Wallet” เพิ่มขึ้น 95%

การค้นหา Food Delivery ที่เพิ่มขึ้น 76%

ตัวเลขเหล่านี้เป็นข้อสนับสนุนที่ชี้ไปในทางเดียวกันว่า ‘โลกออนไลน์’ กลายเป็นกระแสหลัก และเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าแบรนด์ควรจะปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปและไม่หวนกลับมาอีก

เทรนด์ที่ 2 : ทบทวนวิถีชีวิตที่ผ่านมา

จากข้อมูลการค้นหาใน Google พบว่าคนไทยเริ่มมีการแสวงหารูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปให้ได้มากที่สุด แม้สถานการณ์ Lock Down จะคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่วิถีชีวิตการทำงานบางอย่างก็ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เช่น การเข้าไปทำงานในออฟฟิศที่ลดลง

ในช่วงที่ Covid-19 ระบาดหนักในปี 2020 Search Volume ที่เกี่ยวกับการ Work From Home ก็สูงขึ้นตาม เช่น การอัปเกรดสถานที่ทำงาน, การค้นหาอุปกรณ์ที่ช่วยในการทำงานที่บ้าน

แต่ Google ประเทศไทยเผยว่าในปี 2021 กลับมีกระแสการค้นหาที่มากไปกว่าการ Work From Home นั่นก็คือ

“Work From Hotel” ที่สูงขึ้นถึง 1,600% สะท้อนรูปแบบการทำงานแบบ Hybrid ที่ผสมผสานชีวิตและงานเข้าด้วยกัน สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา 

ที่มา: Think with Google

นอกจากนี้ผู้คนยังทบทวนวิถีชีวิตและปรับมุมมองใหม่ๆ ในหลายๆ ด้านอย่างเช่นด้านการเงิน สุขภาพ และการสัมผัสธรรมชาติ ที่มีรายงานด้านคำค้นหาว่า

“Cryptocurrency” เพิ่มขึ้น 263%

“Vitamin D” เพิ่มขึ้น 87%

“Camping” เพิ่มขึ้น 100% เป็นต้น

เมื่อผู้คนเริ่มทบทวนเรื่อง Lifestyle และตระหนักถึงคุณค่าในการมีชีวิต ก็เป็นโจทย์สำคัญที่แบรนด์จำเป็นจะต้องคิดต่อว่าจะสนับสนุนความต้องการของลูกค้าด้วยธุรกิจของคุณอย่างไรบ้าง

เทรนด์ที่ 3 : ห่างไกลไม่ห่างกันด้วยเทคโนโลยี

จากสถานการณ์ Covid-19 จึงเกิดกิจกรรมแบบ Social Distance ทำให้ผู้คนเริ่มสร้างสรรค์รูปแบบกิจกรรมใหม่ๆ ให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดกันได้ แม้จะอยู่ต่างที่ 

ที่มา: Think with Google

Google ได้เปิดเผยข้อมูลในด้านการแสดงความรักผ่านโลกออนไลน์ ที่มีการค้นหา “คำอวยพรวันครบรอบ” เพิ่มขึ้น 210% ด้านการ Entertainment เช่น “คอนเสิร์ตออนไลน์” ก็มีการค้นหาเพิ่มขึ้น 58% และแม้กระทั่งคำค้นหา “เล่นเกมออนไลน์กับแฟน” ก็เพิ่มขึ้นสูงถึง 250% 

ในสถานการณ์เช่นนี้การดูแลจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะอยู่ห่างไกลกัน แต่แบรนด์จะมีกลยุทธ์อย่างไรให้ผู้บริโภคยังคงรู้สึกสนุก อบอุ่น ใกล้ชิด ไม่ต่างกับโลก Offline

เทรนด์ที่ 4 : ใส่ใจกับการค้นหาความจริง

นอกจากจะเพิ่มความระมัดระวังในการตัดสินใจแล้ว ผู้บริโภคยังแสวงหาความน่าเชื่อถือ และใช้ Google เป็น Search Engine ที่จะช่วยสกรีนความจริงเท็จของข้อมูลที่กำลังเสพ โดยมีการค้นหาเกี่ยวกับ “ข่าวปลอม” สูงขึ้นถึง 200% เมื่อเทียบกับก่อนช่วงโควิด 

ที่มา: Think with Google

ดังนั้นแล้วแบรนด์จะต้องมีความโปร่งใสในการทำธุรกิจ แสดงความน่าเชื่อถือและรักษาความเชื่อใจของลูกค้าอย่างดีที่สุด

เพราะ Trust เป็นสิ่งที่เมื่อเสียไปแล้ว จะเรียกกลับคืนมาได้ยาก

เทรนด์ที่ 5 : ความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากขึ้น

Covid-19 เปรียบได้กับไฟฉายที่ส่องให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและมีหลายระดับ จากพฤติกรรมการค้นหาใน Google ก็สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่ไม่เท่าเทียม และความต้องการพื้นฐานของแต่ละคนที่แตกต่างกัน เช่น

การค้นหา “เน็ตฟรี” เพิ่มขึ้น 35%

การค้นหา “5G” เพิ่มขึ้น 235%

และ Google ยังเคยสรุป 10 อันดับคำค้นหาที่มาแรงในประเทศไทยในปี 2021 ซึ่งเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐบาล ถึง 5 อันดับ เช่น “วิธียืนยันตัวตน เราชนะ” “วิธีใช้คนละครึ่ง” หรือ “วิธีลงทะเบียน เรารักกัน” เป็นต้น

ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่แบรนด์จะต้องพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไม่ได้เพิกเฉยกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ใช่แค่การพิสูจน์ผ่านการโฆษณา แต่ผู้บริโภคจะยอมรับแบรนด์ที่ลงมือสร้างความเท่าเทียมในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม 

สรุป

ทั้งหมดนี้เป็น “Year In Search 2021” ที่ทาง Google ประเทศไทยนำมาฝากเรา สามารถดูเนื้อหาเพิ่มเติมแบบละเอียดได้ที่นี่ และจากสถิติที่ถูกเปิดเผยพบว่ามีพฤติกรรมผู้บริโภคหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปแบบไม่หวนกลับมา หากแบรนด์พลาดในการปรับตัวก็อาจจะทำให้ตกขบวนไปอย่างน่าเสียดาย การจะเอาตัวรอดในธุรกิจยุคนี้สิ่งสำคัญคือจะต้องอ่านเทรนด์ผู้บริโภคให้ออกเพื่อเคลื่อนธุรกิจได้อย่างถูกต้อง พร้อมฝ่าฟันทุกวิกฤต

Once we get trends, then we’ll get through 🙂